ผบ.ทอ. เดินหน้าลุยโครงการจัดซื้อ เครื่องบิน F-35 เตรียม 2 แผนรับมือระหว่างรอสหรัฐฯ อนุมัติ ยอมรับโอกาสได้ 50/50 รอคำตอบ ม.ค.-ก.ค.66 ชี้การเมืองระหว่างประเทศมีผล ยันไม่ขอเผยเล็งรุ่นไหนแทน 

เมื่อวันที่ 09.00 น. วันที่ 7 ต.ค.65 ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. กล่าวภายหลังแถลงนโยบายประจำปีงบประมาณปี 2566 ว่า ตนมีปณิธานในการทำงาน 3 ข้อ คือสานต่อ สร้างขวัญและพัฒนา ซึ่งการสานต่อคือการเดินหน้าในงานของอดีต ผบ.ทอ.ท่านที่ผ่านมาในทุกๆ งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่นโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกแบบเป็นเอฟ 35 ขณะนี้ได้เสนอความต้องการในการจัดหาจำนวน 2 เครื่อง จำนวน 7,383 ล้านบาท ไปยังสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว พร้อมได้รับจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 66-69 ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ประสานข้อมูลอย่างต่อเนื่องไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการรับคำตอบในขั้นตอน พีแอนด์เอ หากได้รับคำตอบในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. งานนี้ก็จะเดินต่ออย่างเต็มที่

ทั้งนี้ คำตอบมีสองทาง คือขาย กับ ไม่ขาย ถ้าขายก็จะต้องดำเนินตามขั้นตอน แอลโออาร์ ฟอร์ แอลโอเอ เพื่อดำเนินการทำร่างสัญญาแต่ก่อนจะเข้าขั้นตอนแอลโอเอ จะต้องมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ต้องไปดูขั้นตอนอีกที

"แต่ขอให้ขายเถอะเพราะเป็นสิ่งที่เราปรารถนาอย่างสูงสุด เมื่อผ่านขั้นตอนแอลโอเอแล้วต้องอยู่ที่การอนุมัติของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ถ้า พีแอนด์เอที่ส่งมาเป็นyes ก็ถือว่าผ่าน 90% แล้ว"

เมื่อถามว่า มั่นใจในการจัดซื้อแค่ไหน และเกรงว่าจะเหมือนโครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ต้องชะลอไปเรื่อยๆ หรือไม่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจ เพราะมาตรฐานของเครื่องบินแบบนี้รวมถึงมาตรฐานของบริษัทล็อกฮีตมาร์ติน ซึ่งเราดูในเรื่องของขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงการดำเนินการต่างๆ อีกทั้งการส่งอากาศยานแบบนี้ไปจำหน่ายทั่วโลก เป็นตัวชี้วัดในเรื่องมาตรฐานในการขายอากาศยานแบบนี้ให้กับประเทศของเรา แต่ถ้าเราดำเนินการช้าก็ต้องไปต่อคิวกับประเทศอื่นที่มีการจัดซื้อก่อนหน้าเรา เมื่อเราได้พีแอนด์เอแล้ว เราจึงต้องพยายามรีบลงนามใน แอลโออาร์ ฟอร์ แอลโอเอให้เร็วที่สุด

...

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ปฏิเสธการขายมา พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า เรามีข้อตกลงกับทางกรรมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่าเราต้อง 369 ล้านแรกส่วนจะดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์แบบใดก็ต่อในปี 67 ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งกองทัพอากาศไม่สามารถจะนำเงินจำนวนนี้ไปจัดหาเครื่องบินรบอื่นได้เลยในปี 66 โดยเราจะมีการประเมินเป็นขั้นตอนกันรายเดือน

ส่วนที่มีการถูกโจมตีช่วงพิจารณางบฯ นั้น ตนไม่กดดันเพราะถือว่าทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ในการซื้อระยะแรกไม่มีอาวุธ เพราะเราถือว่าความทันสมัย คือ อาวุธของเรา โดยใช้อาวุธของกองทัพอากาศที่เรามีอยู่เชื่อมต่อกับเอฟ 35 ได้เลย อย่างไรก็ตาม เราทำเต็มที่แล้ว เช่นการให้ข้อมูลต่างๆ กับรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนจะขายให้หรือไม่นั้น ถือว่าเราทำเหตุให้ดีที่สุดส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมรับ

เมื่อถามว่า ต้องมีแผนสำรอง หรือเลื่อนลำดับเครื่องบินปลดประจำขึ้นมาปรับปรุงใช้ทดแทนหรือไม่ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ต้องมาดูกันอีกครั้ง ที่ผ่านมาเราทำยุทธศาสตร์ไว้ตั้งปี 61-80 ในปี 63 และมีการปรับปรุงสมุดปกขาวไปแล้วหนึ่งครั้ง ในปี 66 กองทัพอากาศจะต้องปรับปรุงสมุดปกขาวใหม่ และแจกในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯว่า แผนงานเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้าไม่ได้เอฟ 35 ได้มองเครื่องบินรุ่นใดไว้บ้าง ผบ.ทอ. กล่าวว่าตอนนี้ยังพูดไม่ได้ ยังต้องศึกษาต่อจะคิดคนเดียวไม่ได้ ถ้าเขาปฏิเสธการขายก็จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาว่าแพลนบีจะเพลย์เกมอย่างไรต่อไปอย่างใด

โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนงบประมาณปี 67 เพราะตอนนี้กรอบงบประมาณของกองทัพอากาศค่อนข้างจำกัด คิดว่าผลกระทบจากโควิดและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กรอบงบประมาณ จาก 41,000 ล้านบาท ลงมาเหลือ 36,000 ล้านบาท ลดลงไปประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเราจึงใช้วิธีการปรับปรุงเครื่องบินรุ่นต่างๆ เช่น c-130 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินหลังการปรับปรุงว่าสมบูรณ์หรือไม่ จากนั้นก็เดินหน้าต่อไป

เมื่อถามว่า จะให้รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยโน้มน้าวหรือ พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ถ้าได้ก็เป็นสิ่งที่ดีขึ้น อยู่กับความกรุณาของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนเราในเรื่องนี้ อีกครั้งขึ้นอยู่กับโอกาสของนายกรัฐมนตรีด้วยว่าจะได้พบกับทางผู้นำของทางสหรัฐฯ หรือเปล่า ซึ่งนายกรัฐมนตรีทราบดีแล้ว ก็พร้อมสนับสนุนกองทัพอากาศอยู่แล้ว

ส่วนสหรัฐฯ จะมีเงื่อนไขพิเศษที่จะไม่ขายให้เราหรือไม่ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ไม่มีถ้าได้ก็เป็นสิ่งที่ดี เขาจะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เพราะเอฟ 35 เป็นอากาศยานที่มีความลับสูง ซึ่งโอกาสที่จะได้ ลึกๆ แล้วตอนนี้ก็ 50:50 เพราะว่าสหรัฐฯ ก็ต้องประเมินไทยโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่หลากหลายซึ่งเป็นปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนการฝึกกับ ทอ.จีน เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ลักษณะของการบาลานซ์ เป็นยุทธศาสตร์การสร้างความสมดุล ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์ความเป็นกลาง ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลเน้นย้ำ ส่วนสหรัฐฯจะขายหรือไม่ขายก็เป็นเรื่องของเขา สุดแท้แต่ ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขให้เรางดการนำเข้าสินค้าประเทศคู่ขัดแย้งแลกกับการอนุมัติหรือไม่ ผบ.ทอ.กล่าวว่า คงจะตั้งเงื่อนไขกับเราไม่ได้ เรากำหนดจุดยืนของเราเช่นนี้ อยู่ที่ดุลยพินิจของเขาว่าจะขายให้หรือไม่