“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ชง ตั้งกองทุนรวมเพื่อสังคม ให้เงินลงทุนกับธุรกิจเพื่อสังคม สร้างผลงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 ต.ค. 2565 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ Facebook สะท้อนมุมมองถึงแนวทางการเก็บภาษีของรัฐบาลทุกประเทศอยู่บนหลักการที่จะนำรายได้ภาษีไปเพื่อจุดประสงค์หลัก ได้แก่ 1) สร้างความเท่าเทียมในระดับหนึ่ง คือ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ ด้วยการเก็บภาษีคนรวย มาช่วยคนจน ด้วยโครงการอุดหนุนชดเชยต่างๆ กับ 2) นำมาพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ เป็นต้น นอกจากนั้น เป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยราชการ
ทั้งนี้ แนวนโยบายหลายประเทศ เมื่อรายได้ภาษี น้อยกว่า รายจ่ายที่มี จึงจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล และอาศัยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เงินกู้นี้ถือเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อให้เกิดวินัยทางการคลัง กฎหมายจึงกำหนดเพดานเงินกู้ไว้ในมาตรา 28 ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ เดิมกำหนดเพดานไว้ที่ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP และ 30% ของประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต่อมา ขยายเป็น 70% และ 35% ตามลำดับ
นอกจากนั้น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ยังกำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินของส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น กฎหมายเขียนไว้ เพื่อให้เกิดวินัยการคลังว่าเม็ดเงินที่กู้มาอย่างน้อยจะนำไปลงทุนที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ
ด้วยข้อจำกัดของรายได้ภาษี กับวินัยการคลังที่จำเป็นต้องมีเป็นอย่างยิ่ง หลายประเทศ รวมทั้งไทยเรา จึงได้หันมาใช้แหล่งเงินจากตลาดทุน (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) และภาคเอกชน (การร่วมทุน PPP) ในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
...
แต่ภารกิจของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ยังคงพึ่งพิงงบประมาณ ซึ่งคือรายได้ภาษีเป็นหลักเท่านั้น ในขณะที่หลายประเทศเริ่มหันไปใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดทุน ในรูปแบบของกองทุนรวมเพื่อสังคม ตลาดทุนของไทยเราก็มีศักยภาพสูง การตั้งกองทุนรวมเพื่อสังคมนี้ นอกจากจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนในประเทศแล้ว นักลงทุนและกองทุนลักษณะเดียวกันนี้ในต่างประเทศก็พร้อมที่จะเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมในประเทศไทยเช่นกัน
กองทุนรวมเพื่อสังคม ให้เงินลงทุนกับธุรกิจเพื่อสังคมที่คณะกรรมการกองทุนพิจารณาว่ามีศักยภาพในการสร้างผลงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด เช่น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รายได้รวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ผู้พ้นโทษจำคุกที่เข้าร่วมโครงการได้มีงานทำและมีรายได้ขั้นต่ำตามที่กำหนด รายได้ของผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น เป็นต้น
กองทุนรวมเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อสังคม เดินหน้าร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ที่จะไม่นำเม็ดเงินไปอุดหนุนหรือแจกโดยตรง แต่ทำการพัฒนาผ่านการให้ความรู้ เครื่องมือ และกลไกในการที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ (UN)
นอกจากจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาให้ประเทศเรื่องแหล่งเงินทุนแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมมิติต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพราะไม่ว่าในอนาคตรัฐบาลจะจัดตั้งโดยพรรคใด กองทุนนี้จะดำเนินงานได้ต่อเนื่อง เพราะไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงมิได้ใช้ระบบราชการในการดำเนินโครงการ แต่อาศัยผู้ประกอบการทำงานเพื่อสังคม ที่จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอยากร่วมพัฒนาชาติไทย