ชาวเวียงป่าเป้า เฮ! กมธ.ดีอีเอส เดินหน้าจัดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศ ให้เป็นรูปธรรมได้ปลายปีนี้ หวังปั้นอาชีพใหม่ให้เด็กไทยก้าวทันโลก-ดูแลภัยพิบัติ และทรัพยากรธรรมชาติประเทศ
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดสัมมนา "โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Laboratory) ที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อเดินหน้าจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศ โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า, ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงาน กสทช., บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เข้าร่วม
พ.อ.เศรษฐพงค์ ประเมินว่า โครงการห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ภาคเหนือมีศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้านกิจการอวกาศที่ทันสมัย ยกระดับการเรียนรู้ และคนในพื้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ในการดูแลป่าไม้ โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม การวางแผนด้านทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติ รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าเพื่อให้รับมือได้ทันท่วงที เพราะเทคโนโลยีอวกาศจะสามารถแจ้งได้แบบเรียลไทม์
...
"ผมยืนยันว่า อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นเพราะที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนไม่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนมากกว่า ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากยังทำแบบเดิมเราก็จะกลับไปสู่อดีต เราก็ก้าวไม่ทันโลก และไทยจะตกยุคไปในที่สุด" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะเรายังได้เดินทางไปดูการสาธิตการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการเกษตรกรรมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งสามารถประหยัดแรง ประหยัดต้นทุนการผลิต รวมทั้งสร้างปริมาณและคุณภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
ด้าน นางปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายองค์ความรู้ จิสด้า กล่าวว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาคนก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก ซึ่งจิสด้ามีความพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนในส่วนนี้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ที่จะต้องได้รับการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง อ.เวียงป่าเป้า เป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านอวกาศ เพื่อสร้างบุคลากรสู่อนาคต เพราะเทคโนโลยีอวกาศจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญและมาแรงในอนาคต
ขณะที่ นายเรวัตร แก้วทองมูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า แสดงความเชื่อมั่นในโครงการห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศว่า จะสามารถประสบความสำเร็จจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำในประเทศไทย ที่ตั้งใจผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ และสร้างเป็นอาชีพให้กับเด็กๆ ได้ดี นอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์เพราะ อ.เวียงป่าเป้า เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชหลากหลาย อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง ไร่ชา อีกทั้ง อ.เวียงป่าเป้า เป็นพื้นที่ที่ประสบไฟป่าบ่อยครั้ง เทคโนโลยีอวกาศจึงมีส่วนสำคัญในการดูแลป้องกันเรื่องนี้ได้
"ยอมรับว่าช่วงแรกๆ รู้สึกกังวลว่าบุคลากรและเครื่องมือ ที่สถาบันมีอยู่อาจจะไม่สามารถรองรับโครงการนี้ได้ แต่หลังจากประสานงานกันมาระยะหนึ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการนี้จะประสบผลสำเร็จได้ในระยะอันใกล้นี้ สามารถขยายผลไปยังวิทยาลัยอื่นๆ ได้ในอนาคต" นายเรวัตร กล่าว.