รัฐบาลเตือนประชาชนระวังอันตรายจากไฟฟ้าดูดช่วงน้ำท่วม ขณะที่ กฟภ.-อปท.เร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วแล้ว ย้ำช่วงฝนตก-น้ำท่วมขัง ไม่ควรเดินลุยน้ำเข้าใกล้แนวเสาไฟฟ้า

วันที่ 23 ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตามที่เกิดฝนตกหนักทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ จึงมีความเสี่ยงที่ประชาชนจะได้รับอันตรายจากอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติภัยจากไฟฟ้า ทั้งไฟฟ้าช็อตและไฟฟ้าดูดที่อาจทำให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตได้ กรณีดังกล่าวรัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว เพื่อให้การดูแลความปลอดภัยประชาชนจากกรณีไฟฟ้ารั่วในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุชา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบสนองข้อสั่งการฯ โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในพื้นที่ บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วไหล รวมทั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า พร้อมประเมินว่าหากประชาชนจะได้รับอันตราย จะรีบตัดกระแสไฟฟ้าโดยทันที โดย กฟภ. ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย สำหรับในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และประชาชนจิตอาสาร่วมตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะในเขตชุมชน สถานศึกษาที่มีน้ำท่วมขังบริเวณเสาไฟฟ้า ตลอดจนคอยให้ความช่วยเหลือ แจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากกรณีกระแสไฟฟ้ารั่ว

...

ทั้งนี้ กฟภ. ได้ย้ำแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัยจากกรณีไฟฟ้ารั่วในช่วงที่มีฝนตกและมีน้ำท่วมขัง อาทิ ไม่ควรเดินลุยน้ำเข้าใกล้แนวสายไฟ เสาไฟฟ้า หรือสัมผัสวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า รวมทั้งให้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ภายในบ้าน ไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนแช่น้ำ เป็นต้น พร้อมแนะนำให้ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติในบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกรณีมีไฟรั่วหรือไฟช็อต โดยเฉพาะบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง รวมทั้งบ้านที่ไม่สามารถระบายน้ำฝนออกได้ทันจนเกิดน้ำท่วมบ้าน นอกจากนี้ ควรติดตั้งสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าดูด สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกชื้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าจับต้องมอเตอร์สูบน้ำขณะเครื่องทำงานเป็นอันขาด หากจำเป็นต้องจับให้ปลดปลั๊กหรือคัตเอาต์ออกก่อนทุกครั้ง ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่บริเวณโล่งแจ้ง มีแดดส่องและโดนน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน เช่น กริ่งประตู หากมีรอยแตกชำรุดเสียหาย หรือพบสายไฟมีรอยฉีกขาด ควรเปลี่ยนใหม่ ควรเลือกสวิตช์กริ่ง ประตูแบบที่มีฝาครอบปิด พร้อมยาแนวซิลิโคนรอบสวิตช์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดขณะกดกริ่งช่วงฝนตก

“นอกจากนี้ มีข้อแนะนำสำหรับประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนหรือสะพานลอย อย่านำมือไปจับแตะต้องเสาเหล็กของโคมไฟทางหลวง ราวสะพานลอย ตู้ป้ายไฟโฆษณาที่วางอยู่ริมถนน เนื่องจากบางจุดนั้น อาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่ว อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุกรณีไฟฟ้ารั่ว ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร. 1784 โดยหากพบจุดเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว สามารถแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายด่วน 1129 และการไฟฟ้านครหลวง สายด่วน 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุชากล่าว.