เพื่อไทย ย้อนที่มา แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ "ปลอดประสพ" ชี้ รัฐประหารปี 2557 ทำพัง จนน้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อน บอก "รู้สึกเสียดายโอกาส"
วันที่ 21 ก.ย. ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดเสวนา "ย้อนแผนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ถ้าทำวันนั้น น้ำไม่ท่วมแบบวันนี้" โดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกฝ่ายสามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างยั่งยืน ซึ่งพรรคเพื่อไทย มีความแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำใน 4 ด้าน ได้แก่
1. พื้นที่เป้าหมาย "ชัดเจน" : ต้นน้ำในภาคเหนือตอนบนของประเทศ มีหน้าที่ชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ, กลางน้ำมีหน้าที่ระบายน้ำ (ประตูระบายน้ำ ฯลฯ) ปลายน้ำ ช่วงตอนท้ายภาคกลางคือการระบายน้ำลงทะเล
2. วัตถุประสงค์ "แม่นยำ" : ด้วยการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม และหากท่วมจะต้องป้องกันไม่ให้เสียหายด้วยการปรับปรุงระบบ บริหารจัดการน้ำในยามคับขันอย่างแม่นยำ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นักลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้
...
3. มี "แผนงาน" ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้กำหนดโจทย์รวม 8 ข้อ ได้แก่
3.1.ฟื้นฟูพื้นที่ซับน้ำด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
3.2.ฟื้นฟูเขื่อนหลักของประเทศ 4-5 แห่ง
3.3.ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมในการควบคุมน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ คลอง
3.4 พัฒนาคลังข้อมูล เพื่อความแม่นยำข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำแผนของพรรคเพื่อไทยไปดำเนินการ ทำทางระบายน้ำบริเวณบางบาล - บางไทร สามารถระบายน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 7 ปี แต่แผนของเพื่อไทยวางเอาไว้ว่าการก่อสร้างเพียง 3 ปี
3.5 มีแผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่
3.6. กำหนดพื้นที่รับน้ำนองด้วยการกระจายน้ำ หรือแก้มลิงต้องชัดเจนแน่นอน ว่าครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินหรือไม่ พร้อมชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม
3.7 ปรับปรุงการทำงานขององค์กรบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านมามีหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำมากเกินไป หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งกรม หรือกระทรวงน้ำ
3.8 การมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ในโครงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้เคยจัดทำไว้ภายหลังเกิดน้ำท่วมในปี 2554 มีโครงการที่ชัดเจนและไม่ได้ใช้งบประมาณในการจัดทำแผนโครงการแม้แต่บาทเดียว โดยมีทั้งหมด 8 โมดูล ได้แก่
1.A-1 การสร้างอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะในเขตแม่น้ำยม (แก่งเสือเต้น) แม่น้ำสะแกกรัง (แม่วงค์) ลุ่มแม่น้ำน่าน ท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ 1.6 แสนตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ปริมาณฝนตกลงมาในปี 2554 อยู่ที่ 50,000 มิลลิเมตร แต่ในปี 2565 ในตอนนี้ปริมาณฝน 33,000 มิลลิเมตร ลุ่มแม่น้ำทางภาคเหนือ-กลาง ระบายออกไปได้ 27,000 มิลลิเมตร หากรัฐบาลไม่เริ่มดำเนินการป้องกันและปริมาณน้ำมากเท่าปี 2554 จะทำให้ทั่วทั้งประเทศจมน้ำแน่นอน
2.A-2 สร้างพื้นที่น้ำล้อม เพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจ
3.A-3 พัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำชั่วคราว (แก้มลิง)
4.A-4 ปรับปรุงลำน้ำสายหลักและการกัดเซาะ
5.A-5 จัดทำทางผ่านน้ำ หรือ Flood ways รวม 3 จุด สามารถระบายน้ำได้ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
5. A-6 และ B-4 จัดทำคลังข้อมูลและการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ
7. B-1 สร้างอ่างเก็บน้ำใน 17 ลุ่มน้ำชี
8. B-2 สร้างพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเขตเศรษฐกิจของ 17 ลุ่มน้ำชี
ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า แผนบริหารจัดการน้ำ ตั้งวงเงินงบประมาณในการกู้เงินไว้ที่ 3.5 แสนล้าน แต่ในการแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำภาคเหนือ และกลางทั้งระบบ ใช้งบประมาณอยู่ที่ 229,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ ส่วนที่เหลือสามารถนำไปแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำชี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีปัญหาน้ำหลากจากสภาพพื้นที่ที่มีความสูงชันได้
“ถ้าไม่เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร และพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อจนจบอีก 2 ปีครึ่ง โครงการเหล่านี้จะเสร็จเกือบหมดเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่รัฐบาลนี้บริหารมา 8 ปี ท่านไม่ทำอะไรเลยนอกจากทำฟลัดเวย์ที่ทั้งแพงและก่อสร้างล่าช้า ผมและพรรคเพื่อไทย ‘รู้สึกเสียดายโอกาส’ ดีๆ ที่ประเทศไทยเคยมี ‘รู้สึกชิงชัง’ พวกท่าน และ ‘รู้สึกสงสารประชาชน’ จากการปกครองที่ไม่รู้เดียงสาของพวกท่าน” ดร.ปลอดประสพ กล่าว...
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ บางพื้นที่ของลาดกระบังน้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 ส่วนตัวจำได้ว่าน้ำท่วมในปี 2554 ส่งสัญญาณจากฝนตกตั้งแต่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เข้ามาบริหารประเทศก็ทำงานทันที เมื่อเกิดน้ำท่วมในปี 2554 รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็เร่งทำโครงการบริหารจัดการน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ประเทศไทยยังคงเกิดปัญหาเดิมซ้ำซาก จึงขอกล่าวโทษ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำได้ และยิ่งมีความรู้สึกเจ็บช้ำ เมื่อได้รับคำตอบจาก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ตอบกระทู้สดของตนในสภาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในลาดกระบัง แต่กลับได้รับคำตอบว่า "ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตอบอย่างไร" แสดงให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลนี้ทำไม่เป็น มือไม่ถึง ผลของการบริหารงานจึงเป็นอย่างที่เห็น ทั้งหมดคือความผิดพลาดล้มเหลวมาตลอด 8 ปี ที่ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย พรรคเพื่อไทยรู้ปัญหา รู้วิธีแก้ เหลือแค่โอกาสในการลงมือทำเท่านั้น
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ในพื้นที่ลาดกระบังไม่ประสบปัญหา ทั้งที่ระดับน้ำสูงมาก เพราะขณะนั้นยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยมีการระมัดระวังพื้นที่ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ด้วยการเฉลี่ยปริมาณน้ำในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน แต่ในปีนี้นิคมอุตสาหกรรมและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเขื่อนกั้นน้ำ จึงค่อนข้างมีความปลอดภัยและไม่น่ากังวล แต่รัฐบาลกลับไม่มีวิธีระบายน้ำ ไม่มีการบริหารจัดการน้ำ ทั้งที่ทางออกที่สามารถทำได้คือการบูรณาการการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร แม้ที่ผ่านมาจะมีภาพว่าคนของรัฐบาลโทรศัพท์หาผู้ว่าฯ กทม. เหมือนจะประสาน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีการทำงานร่วมกันกับ กทม. ไม่มีการแก้ไขที่จริงจัง และดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ในปี 2554 ฝนตกติดต่อกันหลายวัน เนื่องจากมีพายุเข้ามาพาดผ่านประเทศไทยหลายลูก ทำให้น้ำในเขื่อนสูงเกินกว่าปริมาณการกักเก็บ จึงต้องระบายออก และน้ำในทุ่งใต้เขื่อนมีปริมาณสูง ทำให้น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนรวมกับน้ำในทุ่ง มีจำนวนมากเกินกว่าลำน้ำใหญ่ทางภาคเหนือ คือ ปิง วัง ยม น่าน จะรับไหว ทำให้แก้มลิงซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเต็มทุกพื้นที่ เมื่อพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำมีไม่เพียงพอ จึงทำให้น้ำไหลลงสู่ภาคกลางอย่างรวดเร็ว และระบายออกสู่ทะเลไม่ทัน รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มองเห็นปัญหาว่าสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม คือการชะลอน้ำจากแหล่งน้ำ และการระบายน้ำจากพื้นที่กลางน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา บางปะกง และท่าจีนออกสู่ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หากรัฐบาลได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2557 วันนี้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งจะหมดไป