มีเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้าน ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติต่อทุกพรรคการเมืองโดยเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติพรรคใดพรรคหนึ่ง หลังจากที่ กกต.กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น ห้ามแจกของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จะต้องห้ามอย่างเข้มงวด ทั้งการแจกบนโต๊ะหรือใต้โต๊ะ
ข้อกำหนดของ กกต.มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนเป็นต้นไป ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าเป็นการเลือกตั้งเนื่องจากครบอายุของสภาผู้แทน ราษฎร ใช้ควบคุมการหาเสียงก่อนครบอายุ 180 วัน อายุสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 จึงต้องเริ่มควบคุมการหาเสียง ตั้งแต่ 24 ก.ย.2565
ต้องถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ จะเริ่มคุมหลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และควบคุมเพียง 45 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้ห้ามแต่แจกสิ่งของ แต่ห้ามแจกเงิน ห้ามจัดแสดงมหรสพ และห้ามจัดเลี้ยง เป็นต้น ผู้สมัคร ส.ส.ที่ฝ่าฝืน อาจต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และตัดสิทธิเลือกตั้ง
ปัญหาที่พรรคฝ่ายค้านกังวล เกรงว่าการปฏิบัติจะไม่เป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลเคยมีตัวอย่างการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลอ้างว่าไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม สามารถใช้ทรัพยากรรัฐ หรือบุคลากรรัฐเอื้อต่อการเลือกตั้งได้
ตัวอย่างเช่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทุกพรรคห้ามแจกสิ่งของ หรือแจกเงิน เพื่อจูงใจผู้เลือกตั้ง ผู้ฝ่าฝืนอาจติดคุกถึง 10 ปี แต่พรรคฝ่ายรัฐบาลหรือที่อ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ มีสิทธิที่จะประกาศนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม เอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อเสียงประชาชนได้
...
รัฐบาลเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย มีสิทธิที่จะตีความกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ ฝ่ายตนได้ อย่างในปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลตีความว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง ยังมีสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ แต่อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง โต้ว่าทำไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ
ข้อกำหนดควบคุมวิธีการหาเสียง ของ กกต. ตามกฎหมายปัจจุบันค่อนข้างลากยาวนาน เพราะควบคุมเข้มงวดถึง 180 วัน หรือ 6 เดือนเต็มๆ ไม่ใช่แค่ 45 วันเหมือนกฎหมายเลือกตั้งฉบับก่อนๆ ต้องถือเป็นงานหนักสำหรับ กกต.และผู้สมัครทุกพรรค กกต.ต้องปฏิบัติต่อทุกพรรคโดยเท่าเทียมกัน ไม่เลือกหน้าว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน.