อีกเพียงไม่กี่วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็จะชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอยู่ครบกำหนดเวลา 8 ปี หรือไม่ หลายคนสงสัย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องไป ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์รักษาการก็ได้แต่ไม่ควรทำ

นักวิชาการท่านหนึ่ง คือนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ และเคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2560 เห็นว่า ถ้าศาลวินิจฉัยให้พ้นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์จะพ้นจากตำแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯต่อไป กรณีนี้อาจเปรียบกับพระภิกษุที่ต้องปาราชิก ต้องขาดจากพระต้องสึกทันทีจะบวชใหม่ไม่ได้

เกี่ยวกับการรักษาการ หรือการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังจากพ้นจากตำแหน่ง มีรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอยู่หลายมาตรา เช่น มาตรา 167 (1) คณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงทั้งคณะ ถ้านายกฯพ้นตำแหน่ง เพราะอยู่ครบ 8 ปี แต่ถ้าพ้นตำแหน่ง เพราะครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือ คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ เป็น ครม.รักษาการได้

มาตรา 168 ระบุว่า ถ้านายกฯพ้นตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือพ้นตำแหน่งตามมาตรา 167 (4) หรือ (5) “จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้” จะเป็นนายกฯรักษาการไม่ได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างสับสน แม้แต่ระดับเนติบริกรก็สับสน แต่หวังว่าคำวินิจฉัยศาลจะทำให้สิ้นสงสัย

...

อันที่จริง กรณีนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาซับซ้อน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 170 เขียนไว้ชัด เรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อตาย ลาออก สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ นอกจากสิ้นลงด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังสิ้นสุดลงเมื่อครบ 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย

แต่เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม รับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 พรรคฝ่ายค้านจึงต้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล หวังว่าถ้าศาลให้พ้นตำแหน่งพล.อ.ประยุทธ์ ควรถอยตัวออกไป

ตามมารยาททางการเมือง แม้กองเชียร์จะให้เป็นนายกฯรักษาการต่อก็ไม่ควรโลดเต้นไปตามเสียงเชียร์ เพราะอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งในสังคม พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.เคยสัญญาว่าเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดองในสังคม แต่ 8 ปี กลายเป็นความขัดแย้ง แต่โอกาสสุดท้ายยังมีอยู่.