กมธ.ดีอีเอส ชี้การสร้างระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นเรื่องเร่งด่วน ย้ำกิจการอวกาศเป็นอนาคตสำหรับภาคเศรษฐกิจ ชี้ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ทันนานาประเทศ
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.65 น.ส.กัลลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้การโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นในประเทศไทยจำนวนมาก ในแต่ละครั้งสร้างความเสียหายต่อประเทศมากขึ้น ดังนั้นการสร้างระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พ.ศ.2562 และบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ร.ท.ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่มากขึ้น ย่อมเป็นจุดโหว่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะที่ผู้ก่อการร้ายก็ใช้ AI เข้ามาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ และจำเป็นต้องปกป้องอย่างเข้มงวด
...
ขณะที่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯ ยืนยันพร้อมรับคำแนะนำของสมาชิกไปพิจารณา แต่เป็นที่น่ากังวลว่าเกตเวย์ของประเทศไทยอาจไม่ใช่ทางเข้าออกข้อมูลข่าวสารของประเทศไทยอีกต่อไป แต่โทรศัพท์ยุคใหม่กำลังเชื่อมต่อไปยังอวกาศ โดยไม่ผ่านเกตเวย์ประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย หน่วยงานกำกับของรัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ข้อมูลข่าวสารประเทศเราไม่ผ่านเกตเวย์ แต่จะก้าวผ่านไปสู่กิจการอวกาศ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งนี้คือภัยคุกคามที่คณะกรรมาธิการฯ ห่วงใย
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง New Space และกิจการอวกาศ (Space Economy) ซึ่งคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว ได้ผ่านสภาแล้ว ซึ่งกิจการอวกาศอาจไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป จนทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ให้น้ำหนักและไม่ให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้กับประเทศไทย แต่กิจการอวกาศในยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นได้จริงแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ที่เชื่อมต่อกับกิจการอวกาศด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านดาวเทียมขนาดเล็กวงโคจรต่ำ ทำให้กิจการอวกาศเข้าถึงทุกส่วนของโลกใบนี้ จึงเป็นอนาคตที่สำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจ จึงได้นำรายงานการศึกษาฉบับนี้แจ้งให้ที่ประชุมสภาฯ ได้ทราบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิระศิลป์ จยาวรรณ ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า ภาพรวมในกิจการอวกาศของประเทศไทย จะมีกิจการหลายอย่างเกี่ยวข้อง จึงต้องพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาให้ทัดเทียมกับธุรกิจอวกาศของนานาประเทศ