รองโฆษกรัฐบาล เผย ผู้ปกครองลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” ได้ตั้งแต่ 16 ก.ย. นี้ เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงสิทธิ์และการบริการของรัฐ พร้อมย้ำคุณสมบัติ

วันที่ 15 กันยายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 เป็นต้นมา ได้ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้แก่เด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การทำงานของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดให้ผู้ปกครองที่มีสัญชาติไทยลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนฯ ณ ส่วนราชการในท้องที่ที่อาศัยอยู่ ได้แก่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการเมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ปกครองให้สามารถเข้าถึงสิทธิ์และการให้บริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนออนไลน์ขอรับเงินอุดหนุนฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคมกระทรวง พม. หมายเลขโทรศัพท์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกรมกิจการเด็กและเยาวชน หมายเลขโทรศัพท์ 02-651-6902, 02-651-6920 หรือ 082-091-7245

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล

...

สำหรับผู้ปกครองต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
2. เด็กแรกเกิดต้องอาศัยร่วมด้วย
3. เป็นครอบครัวที่มีรายได้น้อย เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี

ส่วนเด็กแรกเกิดต้องมีอายุไม่เกิน 6 ปี มีสัญชาติไทย อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนตามที่อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนประกาศกำหนด

สำหรับกรณีที่ไม่สะดวกลงทะเบียนออนไลน์ สามารถลงทะเบียนได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง

  • กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต
  • เมืองพัทยา ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
  • ภูมิภาค ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล


ทางด้านเอกสารที่ใช้ ณ หน่วยลงทะเบียน ประกอบด้วย

1. แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
3. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
4. บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ของผู้ปกครอง
5. ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท
6. สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
7. บัตรหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

ในช่วงท้าย นางสาวรัชดา ยังแนะนำว่า ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์หมั่นตรวจสอบข้อมูลในระบบตรวจสอบสิทธิ์อยู่เป็นประจำ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และหมั่นตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินอุดหนุนว่ายังสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นขจัดปัญหาเด็กยากจน และให้ความสำคัญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ.