"ส.ก.พรรคเพื่อไทย" กทม.ตะวันออก ลุย อภิปรายในสภา กทม. รอพิสูจน์ฝีมือ ผู้ว่าฯ กทม.ที่ชื่อ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เร่งแก้น้ำท่วมช่วยเหลือประชาชน บอกหัวใจคือ "ประตูระบายน้ำ" 

วันที่ 14 ก.ย. 65 นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร (คนที่ 1) ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภากรุงเทพมหานคร ประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

โดยในที่ประชุม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย แนะ กทม.เร่งบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่กรุงเทพตะวันออก บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยเร็ว

ดร.สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเร็ว พร้อมแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ว่า หัวใจการแก้ปัญหาน้ำท่วมคือ "ประตูระบายน้ำ" น้ำไหลจากปทุมธานี ลง กรุงเทพตะวันออก โดยผ่านคลองแสนแสบ เพื่อไหลไปอุโมงค์พระรามเก้า ส่วนการระบายน้ำอีกเส้นที่ขนานกัน คือ คลองประเวศบุรีรมย์ ที่จะไหลลงสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง ตามหลักแนวโน้มถ่วง คือ ที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ปัจจุบันพบว่า เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปริมาณน้ำมาที่สถานีไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง คือ เปิดประตูระบายน้ำของทั้งสองคลองหลักเพื่อให้ไหลไปสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง ส่งต่อไปแม่น้ำเจ้าพระยาและสู่อ่าวไทยโดยเร็วที่สุด ด้านการแก้ไขระยะยาว ควรทำเขื่อนและประตูกั้นน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มที่คลองหลัก เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง และเพิ่มเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำทดแทนเครื่องเดิมที่ชำรุด เสื่อมสภาพ

...

ทั้งนี้ บรรดา ส.ก.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายประเด็นการบริหารจัดการน้ำท่วมเพิ่มเติม โดย นางสาวมธุรส เบนท์ ส.ก.เขตสะพานสูง กล่าวว่า เขตสะพานสูง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนักโดยเฉพาะหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง ที่มีบ้านประชาชนมากถึง 3,000 กว่าหลังคาเรือน ต่อมา เป็นหมู่บ้านเคหะธานี 4 อีก 1,000 กว่าหลังคาเรือน และชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลอง ดิฉันได้ลงพื้นที่แก้ไขสถานการณ์ร่วมกับสำนักงานเขต ทั้งตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุด ทั้งกั้นกระสอบทรายเพื่อบล็อกน้ำจากคลองไม่ให้เข้าสู่บ้านเรือน แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

จึงขอฝากท่านประธานไปยังฝ่ายบริหารเร่งพร่องน้ำในคลองโดยด่วน เนื่องจากการตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ตามจุดนั้น เป็นการสูบน้ำลงคลองทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำในคลองมีระดับสูงเกินเกณฑ์ปกติ ณ เวลานี้ไม่ได้ช่วยอะไรเพราะน้ำไม่มีทางไป จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหา อีกท้ังโครงการหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก สร้างทับถมที่ซึ่งเดิมเคยเป็นบึง เป็นแอ่งเก็บน้ำ คล้ายกับแก้มลิง และยังสร้างใจกลางหมู่บ้านเดิมที่เคยมีอยู่ หมู่บ้านโดยรอบจึงได้รับผลกระทบโดยเป็นแอ่งกระทะเก็บน้ำอย่างดี อีกทั้งยังสร้างกำแพงชิดติดกับหมู่บ้านเดิม ไม่มีลำราง ไม่มีทางน้ำไป จึงฝากท่านประธานไปยังฝ่ายบริหารช่วยพิจารณาเรื่องของการจัดผังเมืองและเร่งแก้ไขเรื่องนี้ด้วย สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณสำนักสิ่งแวดล้อมที่ได้จัดห้องสุขาเคลื่อนที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักแบบเร่งด่วน และขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมยารักษาโรคน้ำกัดเท้า กระสอบทรายเพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงอีเอ็มบอล ช่วยบำบัดน้ำเสียที่ท่วมขังบริเวณริมคลองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย”

นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม กล่าวว่า หัวใจของการป้องกันน้ำท่วมคือการเตรียมความพร้อมของผู้อำนวยการเขต ทั้ง 50 เขต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย ห้องสุขาเคลื่อนที่ เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการป้องกันและเยียวยา ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมได้

"รวมไปถึงฝากไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานครและสำนักการระบายน้ำ เรื่องการจัดซื้อ เครื่องสูบน้ำ เนื่องจากปัจจุบันมีอายุการใช้งานมานานและชำรุดไม่สามารถใช้การได้ดีเท่าที่ควร รวมไปถึงขอให้สำนักงานเขต สำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจคลองและลำรางของแต่ละเขตว่าทางเดินน้ำไหลสะดวกหรือไม่ หรือมีอะไรที่เป็นอุปสรรคขวางทางเดินของน้ำ และ ขอให้กทม.จัดสรรงบประมาณมาสร้างเขื่อนตามคลองต่างๆ และสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อป้องกันน้ำจากคลองแสนแสบไหลกลับเข้ามายังพื้นที่" นายเนติภูมิ กล่าว...

ด้าน นางสาวนภัสสร พละระวีพงษ์ ส.ก.เขตบางกะปิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านเขตบางกะปิมีน้ำท่วมกว่า 30 จุด ปัจจุบันมีน้องๆ นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียนและบางรายต้องพายเรือไป และชุมชนหมู่บ้านสวนสนตั้งแต่ท่วมคราวที่แล้ว ครั้งนี้ก็เจอเหตุการณ์เดิม ฝนตกเพียงแค่ 1 ชั่วโมง น้ำท่วมจนรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ประชาชนต้องยกของย้ายบ้านเพื่อหนีน้ำท่วมฉับพลัน

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอชื่นชมและให้กำลังใจกับ ผอ.เขตบางกะปิ และเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนกันอย่างเต็มที่ แต่ก็อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำออกโดยเร็วที่สุด รวมถึงในส่วนของการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องของทรัพย์สินของประชาชนเสียหายและสูญหายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงปัญหาจากน้ำท่วมที่มีปลิงในน้ำเป็นจำนวนมากด้วย.