“ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. รับมอบเครื่องสูบน้ำจากกระทรวงทรัพย์ เพิ่มประสิทธิภาพ เร่งระบายน้ำท่วมขัง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ชี้ วิกฤติอยู่ที่ลาดกระบัง ปัญหาคือเส้นเลือดฝอยไปไม่ถึงอุโมงค์

วันที่ 13 ก.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รับมอบเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง จากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ณ สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย

ทั้งนี้ นายวราวุธ ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ให้โอกาสกรมทรัพยากรน้ำมีส่วนร่วมบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในกรุงเทพฯ โดยการนำเครื่องสูบน้ำหน้าตัด 30 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง มาสนับสนุน ซึ่ง 1 เครื่อง กำลังติดตั้งที่ศรีนครินทร์ เขตบางนา คาดว่าภายใน 24 ชั่วโมงจากนี้ไปจะเดินเครื่องได้อีก 4 เครื่อง ตอนนี้อยู่ที่สถานีสูบน้ำพระโขนงแล้ว ส่วนอีก 1 เครื่องจะเดินทางมาถึงในวันที่ 19 ก.ย. นี้

...

สำหรับเครื่องสูบน้ำทั้ง 6 เครื่อง นำมาจากสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 ภาค 4 ภาค 5 และภาค 6 ซึ่งการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความละเอียดอ่อน นอกจากการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมีเรือเล็กและกำลังคนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่พร้อมสนับสนุนหากกรุงเทพฯ ต้องการ รวมถึงการกำจัดผักตบชวา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีประสิทธิภาพไม่แพ้หน่วยงานอื่น หากมีมิติใดที่สามารถสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯ ได้จะเร่งดำเนินการโดยด่วน

ทางด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ครั้งนี้ฝนตกหนักว่าที่เคย และเกิดเป็นหย่อมๆ การกระจายเครื่องสูบน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเร่งระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สถานการณ์ตอนนี้กรุงเทพฯ ยังขาดเครื่องสูบน้ำอยู่ ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนเครื่องสูบน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่ง กทม. จะนำมาตั้งที่สถานีสูบน้ำพระโขนงและพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยกรมชลประทานก็สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ภาคเอกชนก็มาช่วย บริษัทครอบครัวขนส่งก็นำเรือ 12 ลำ มาช่วยผลักดันน้ำ สำหรับตอนนี้วิกฤติอยู่ที่ลาดกระบัง หัวใจสำคัญคือต้องดึงน้ำไม่ให้ออกไปทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก แต่ให้เข้ามาทางฝั่งตะวันตกก็คือพระโขนง ซึ่งมีระยะทางไกลมากจึงต้องรีบผลักดันน้ำจากลาดกระบังเข้ามา ส่วนพื้นที่อื่นบรรเทาลงไปเยอะแล้ว

ในส่วนของสถานีสูบน้ำพระโขนง จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 5 เครื่อง ปั๊มน้ำที่นี่ทำงานมา 2 สัปดาห์ไม่ได้หยุด จะต้องมีการพัก สลับกัน และดึงน้ำเข้ามาให้มากขึ้น ตอนนี้ที่เห็นหนักสุดคือเขตลาดกระบัง ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ก็แห้งอยู่ ขณะที่เขตบางเขน จะมีพหลโยธินและรามอินทรา 39 ที่ยังเปียกอยู่นิดหน่อย สถานการณ์ทั่วไปต้องดูที่ลาดกระบังเป็นหลัก ต้องลงไปดูแลและให้กำลังใจพี่น้องลาดกระบังให้เข้มข้น

ผู้ว่าฯ กทม. ระบุต่อไปว่า การทำเส้นเลือดใหญ่ไม่ง่ายเพราะเป็นโครงการระยะยาว เส้นเลือดใหญ่คือเมกะโปรเจกต์ ทำอุโมงค์ระบายน้ำต้องใช้เวลา 6 ปี ซึ่งก็มีการทำเส้นเลือดใหญ่อยู่ แต่ไม่ใช่จะเห็นผลใน 2-3 เดือน ตอนนี้เส้นเลือดใหญ่คือการดูแลปั๊มน้ำให้ทำงานให้เต็มที่ อุโมงค์ระบายน้ำพระโขนงก็ทำเต็มที่ เส้นเลือดใหญ่ที่มีอยู่ทุกตัวก็ทำเต็มที่หมด แต่ปัญหาคือเส้นเลือดฝอยไปไม่ถึงอุโมงค์ระบายน้ำ นาทีนี้ที่หลายที่ไม่ท่วม เชื่อว่าเพราะเส้นเลือดฝอยทะลวงได้ดีขึ้น เส้นเลือดฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วยให้พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งอยู่ แต่เขตประเวศ เขตลาดกระบังอยู่ไกลจริงๆ และฝนก็ตกมาก ที่ผ่านมาทุ่มกับเส้นเลือดใหญ่มาก สังเกตว่าหลายที่ไม่ได้ลอกท่อระบายน้ำ พอทะลวงท่อก็ดีขึ้นเยอะ ต้องทำเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ให้สมดุลกัน

“ในช่วงเวลาจำกัดแค่ 2 เดือน เส้นเลือดฝอยสามารถทำให้เห็นผลได้ ในอนาคตก็ต้องดูเรื่องเส้นเลือดใหญ่ให้ดีขึ้น จะพิจารณาเพิ่มเส้นเลือดใหญ่ของลาดกระบัง อุโมงค์ระบายน้ำพระโขนงก็จะทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประตูสูบน้ำพระโขนงมี 2 ฝั่ง สำหรับฝั่งที่เป็นอุโมงค์สูบน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนฝั่งที่เป็นประตูเก่าที่กรมชลฯ ให้มาสูบน้ำได้ 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เดิมไม่ได้เดินเครื่องเต็มที่เพราะดึงน้ำมาไม่ถึง น้ำไหลมาไม่ทันเพราะไกลมาก น้ำต่ำมากไปปั๊มจะร้อน เพราะปั๊มใช้น้ำเป็นตัวหล่อความร้อนด้วย พยายามกดน้ำให้ได้มากที่สุดแล้วก็เอาเรือมาช่วยผลักดันน้ำด้วย”