"จิราพร" ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เตือน รัฐบาล ศึกษาข้อตกลง IPEF ให้ดี ให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด หวั่น รัฐบาล 3ป. จัดประชุม APEC ไม่สมศักดิ์ศรี ชี้ ไม่ต้องรอศาลตัดสิน นายกฯ 8 ปี ควรลาออกเปิดทางมีนายกฯ ใหม่ 

วันที่ 13 ก.ย. นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงกรณีที่ไทย จะเข้าร่วมใน "กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่โดยสหรัฐฯ เป็นแกนนำในการจัดตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เมื่อวันที่ 8-9 กันยายน 2565 ที่ลอนแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา สาระสำคัญมี 4 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการค้า, ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain), ด้านพลังงานสะอาด, ด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะส่งผลต่อการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศสมาชิกในอนาคต กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า อาจไม่ได้รับการผ่อนปรนทางการค้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ประเทศภาคีในกรอบ IPEF สามารถเลือกที่จะเข้าร่วมการเจรจาในเรื่องไหนก็ได้ โดยที่สมาชิกยังต้องทำตามมาตรฐานการค้าที่สูงของสหรัฐฯ หลายฝ่ายจึงมองว่า IPEF ดูเปิดกว้างแต่อาจเป็นเพียงกรอบความรอบมือที่สหรัฐฯ ต้องการรักษาบทบาทนำในการค้าโลกหรือไม่

นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไทยมีกึ๋นมากพอ จะเป็นโอกาสของไทยในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ โดยต้องจับมือกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมากับคนไทย บอกถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ และแผนการเตรียมรองรับในอนาคต และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจามากที่สุด มิเช่นนั้นจะเหมือนกับที่รัฐบาลพยายามจะพาไทยเข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถอธิบายข้อมูลให้กับคนไทยได้อย่างชัดเจน

...

ทั้งนี้ภายใต้บริบทการฟื้นตัวจากโควิด ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤติอาหารโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความท้าทายอีกหลายประการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไทยในฐานะที่อยู่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต้องวางบทบาทตัวเองอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลทางการเมืองและการค้ากับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าคนสำคัญของไทยอื่นๆ ด้วย

“สหรัฐฯ คาดว่าจะเจรจากรอบ IPEF แล้วเสร็จภายใน 12-18 เดือน หากยังเป็นการเจรจาภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ดิฉันไม่อาจมั่นใจในฝีมือการเจรจาทางการค้าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดแต่อย่างใด เพราะภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้แทบไม่เหลือเครดิตในการต่อรองเจรจาทางการค้ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว”

นางสาวจิราพร ยังมีความเป็นห่วงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากในการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปก เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจการค้าได้ และในการประชุมรัฐมนตรีเอเปกวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ APEC Small and Medium Enterprises Ministerial Meeting ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน ที่จังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมา ประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศสมาชิกหยิบยกประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในที่ประชุม จนทำให้ประเทศพันธมิตรจำนวน 6 ประเทศ ได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนที่ต่อต้านรัสเซียซึ่งเป็นชาติสมาชิกเอเปกอย่างต่อเนื่อง เป็นการกดดันกลายๆ ให้ไทยในฐานะประธานต้องแสดงจุดยืนในประเด็นความขัดแย้ง และหากไทยไม่มีความพยายามที่จะป้องกันหรือแก้ไขความขัดแย้งไม่ให้ที่ประชุม APEC กลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองของชาติสมาชิกซ้ำๆ ทุกการประชุมเช่นนี้ จึงคาดการณ์ได้ว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่จะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้อาจจะเกิดปัญหา และอาจทำให้ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้มเหลว ไม่สามารถผลักดันให้เกิดฉันทามติในประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยให้ความสำคัญได้

“เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบความตกลง IPEF หรือการประชุม APEC ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อมองไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ มือไม่ถึงในเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้แสดงภาวะผู้นำ บริหารจัดการประชุม APEC กลับสู่กลไกปกติให้ได้ และทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ไป การที่ไทยได้โอกาสในการเป็นประธานในการจัดเอเปก เป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีอยู่ ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยมากที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมจะเป็นรัฐบาลต่อหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด หากเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนจริง พลเอกประยุทธ์ ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ควรลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถมาแทน” นางสาวจิราพร กล่าว