ทายาท
“ปวดหลัง”...มีความเสี่ยงต่างกันอยู่หลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการเรื้อรังมากน้อยแค่ไหน
“ปวดหลังปกติส่วนใหญ่จะเป็นแล้วหายได้เอง ไม่ว่าจะยกของหนัก...ถ้าปวดก็จะหายได้เองภายในเจ็ดวัน หากได้พักผ่อนสักหน่อยบางทีสามวันก็หาย...”
นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกอีกว่า ความน่ากลัวของอาการปวดหลังต้องดูที่ระยะเวลาและความเรื้อรัง สังเกตว่าถ้าปวดกล้ามเนื้อจากอาการเคล็ดขัดยอกจริงๆภายใน 3 วัน...7 วันหายก็ไม่เป็นไร
สัญญาณที่บ่งชี้ว่าน่าเป็นห่วง...อาการปวดที่เรื้อรังมาเป็นปีแล้วมีเหตุที่ทำให้เป็นง่ายๆ เช่น บิดตัว เอี้ยวตัวนิดเดียวก็เป็น บางคนให้ประวัติเลยว่าถ้าก้มลงหยิบของ ทุกครั้งก็จะปวดหลังจนลุกไม่ขึ้นอีกเลยสามวัน บางคนก็เป็นมากตอนอาบน้ำ ต้องเอาเก้าอี้ไปนั่งอาบ หรือว่าก้มลงไปซ่อมรถ ดูยางรถยนต์ก็จะรู้ตัวเลยว่าต้องปวดหลัง
“ร้ายกว่านั้นบางคนอาการปวดหลังก็รบกวนต่องานที่ทำ เป็นครูยืนสอนไม่ไหวปวดหลังมากเรื้อรังมาเป็นปี ต้องนั่งสอน”
อายุมากๆแล้วจะปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะหลายคนก็เป็นตั้งแต่อายุไม่มาก กนกชัย ธีรชูพงษ์ ผู้ป่วยโรคปวดหลังเรื้อรัง หมอนรองกระดูกเสื่อมจนต้องเข้ารับการผ่าตัดแบบใหม่ อายุ 38 ปีเท่านั้น
เขาเล่าว่ามีอาการปวดหลังมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่มารุนแรงช่วงหลังๆเวลานั่งแล้วจะลุกขึ้น จะปวดมากบริเวณแผ่นหลังเหนือก้นกบ ต้องยืดตัวก่อนเหมือนให้กล้ามเนื้อคลาย ก่อนที่จะขยับไปไหนได้
กนกชัยเป็นพนักงานออฟฟิศ ปวดหลังคงจะเกี่ยวกับนั่งทำงานนานๆอยู่บ้าง ถ้านับรวมถึงเรื่องกรรมพันธุ์...คุณแม่ก็เป็นโรคหลังคด ส่วนที่เกี่ยวตรงๆอาจจะเป็นการเล่นฟิตเนส ออกกำลังกายหนักเกินกำลัง
“ปวดหลังเพราะยกของหนัก...ผิดท่า เล่นฟิตเนสอาจจะโหมมากเกินไป...บวกกับการทำงานที่ไม่ค่อยเปลี่ยนท่าก็ยิ่งทำให้อาการปวดหลังสะสมกลายเป็นปวดหลังเรื้อรัง”
ปีใหม่ที่ผ่านมา...ยกเบียร์แค่ลังเดียวเดินลงบันได คิดว่าจะไม่เป็นอะไรมาก แต่กลายเป็นว่าปวดหลังนานถึง 3 สัปดาห์ มาหาหมอสันนิษฐานว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง มีปัญหาหมอนรองกระดูกเสื่อมต้องผ่าตัด
กนกชัยไม่ได้ภาคภูมิใจในการเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ใช้เทคนิคผ่าตัดแบบใหม่ เปลี่ยนกระดูกสองข้อ ผ่าเสร็จวันศุกร์...เสาร์เช้า เที่ยงก็เดินได้ปกติ ไม่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา เพราะถ้าย้อนเวลาไปได้คงไม่โหมเล่นฟิตเนสหนักเกินกำลัง จะเล่นแต่พอดี แล้วท่าทางการทำงานจะต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่นั่งทำงานท่าเดียวต่อเนื่องนานๆ ข้อสำคัญอย่ายกของหนัก เวลาก้มเก็บของให้ย่อขา
คุณหมอทายาท บอกว่า สาเหตุการปวดหลังที่น่าจะมีส่วนมากที่สุดคือ การใช้งานที่ผิดวิธี เล่นกีฬาหนักๆ...รักบี้ ฟุตบอล ทำให้หมอนรองกระดูกมีการเสื่อมอย่างรวดเร็ว ข้อถัดมา...เป็นทฤษฎีที่น่าเชื่อถือก็คือพันธุกรรมพ่อกับแม่มาบวกกันและพันธุกรรมของลูกกลายเป็นพันธุกรรมที่ง่ายต่อการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ก็พบบ่อย
ปัจจัยที่สาม อาหารการกิน บางทีอ้วนมากเกินไป น้ำหนักตัวมากเกินไป ก็มีโอกาสที่หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วกว่าคนที่น้ำหนักปกติ สุดท้ายเป็นเรื่องของบุหรี่ ยาสูบ...ทำร้ายหมอนรองกระดูกโดยตรง
“ปวดหลังเรื้อรังจนถึงขั้นต้องผ่าตัด หมายถึงว่าผู้ป่วยปวดหลังจนทนไม่ได้ ปวดทุกวัน กินยาทุกวัน ปัญหาคือปัจจุบันการกินยามากๆจะส่งผลต่อตับ ไต ถ้ากินยาเป็นเดือนเป็นปี ดี...ไม่ดี...จะเป็นปัญหาตามมา ถ้ามีอะไรแก้ไขได้อย่างถาวร ทำให้คนไข้ไม่ต้องพึ่งยา ทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติก็เป็นทางออกที่ดี”
ผ่าตัดเทคนิคใหม่... “การผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็กข้างลำตัว (DLIF)” คุณหมอทายาท อธิบายว่า เทคนิคผ่าตัดแบบเก่าไม่ใช่ไม่ดี เป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จในการรักษาดีพอสมควรอยู่แล้ว แต่เทคนิคเก่าเป็นการเปิดแผลกล้ามเนื้อจากด้านหลังยังมีจุดด้อย
อาทิ การทำลายกล้ามเนื้อหลัง สมมติว่าจะผ่าตัดยาว 5 นิ้ว ก็ต้องทำลายกล้ามเนื้อหลังทั้ง 5 นิ้วนั้นด้วยการแยกออกมาจากกระดูก แล้วหลังจากนั้นยังต้องไปทำลายกระดูกดีๆ ซึ่งห่อหุ้มเส้นประสาทอยู่ด้วย แล้วเส้นประสาทเมื่อมีเลือดไปอาบอยู่ยังมีโอกาสเกิดพังผืดรัดเส้นประสาทในอนาคตอีกด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิจัย นักวิเคราะห์ค้นคิดวิธีที่จะทำยังไงให้ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่ผ่ายังไงที่จะลดอาการปวดหลัง ลดปัญหาโดยไม่ต้องแยกกล้ามเนื้อออกจากกระดูก...ทำ
ยังไงไม่ต้องตัดกระดูกดีๆส่วนที่ห่อหุ้มเส้นประสาท...ทำยังไงที่จะไม่ให้มีพังผืดรัดเส้นประสาทในอนาคต
“สุดท้ายก็คือได้ผลประโยชน์ในเรื่องที่คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เจ็บน้อย...
การผ่าตัดใหม่เข้าด้านข้างลำตัว ไม่ต้องแยกกล้ามเนื้อแน่นอน ทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ถูกทำลาย เจ็บน้อย เป็นการเข้าด้านข้างจริงๆ...อันตรายต่อเส้นประสาทน้อยกว่าการผ่าเข้าด้านหลัง” คุณหมอทายาท ว่า
วิธีนี้ในต่างประเทศทำกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว...แต่ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาเป็นการพัฒนากลั่นจนสมบูรณ์แบบแล้ว ช่วง 5 ปีแรกก็ยังมีการปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์และก็เฝ้าดูผล จนกระทั่งโรงพยาบาลชั้นนำในสหรัฐฯนำวิธีนี้มาใช้จนเกือบจะเป็นมาตรฐานหนึ่งในการรักษา กระจายไปทั่วนับร้อยแห่ง
ไม่เฉพาะคนปวดหลังเท่านั้นที่ต้องกังวลกับโรคปวดหลังเรื้อรัง หากแต่ใครที่ยังไม่เป็นหรือเริ่มมีเค้าลางของอาการปวดหลัง...จะมีวิธีรักษาตัว ชะลอความเสื่อมให้พ้นจากอาการเรื้อรังได้อย่างไรกันบ้าง?
คุณหมอทายาท ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการหนีห่างจากโรคปวดหลังก็คือ การดูแลกล้ามเนื้อหลังกระดูกสันหลังด้วยการจัดท่าทางให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง ไม่ไปทำลาย ทำร้ายหลังตัวเองมากเกินไป เช่น การก้มๆเงยๆ ต้องไปอยู่ในที่ที่สั่นสะเทือนมากๆ หรือทำอะไรที่หนักเกินกำลังการเคลื่อนไหวของหลัง
“ยกของหนักให้ถูกวิธี ฝึกนั่งให้ถูกต้อง...ท่าที่สบายที่สุดเอนพนักพิงราว 30 องศา แต่ไม่ควรนั่งนาน ลุกขึ้นมาเดินบ้าง เพราะการเดินจะอยู่ในท่าที่ช่วยถนอมกระดูกสันหลังได้ดีกว่าท่านั่ง”
ถ้าเป็นไปได้ สิ่งไม่ดีทำร้ายหลังเหล่านี้ ห้ามทำเด็ดขาด
อีกประการสำคัญคือ บุหรี่ ยาสูบ ต้องงดเด็ดขาด ถัดมาก็คือการออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยให้หมอนรองกระดูกมีเลือดไปเลี้ยง มีอาหารไปเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าขาดการออกกำลังกายหมอนรองกระดูกมักจะเสื่อมเร็วกว่า
“การกระโดดโลดเต้น จะปั๊มเอาอาหารเข้าสู่หมอนรองกระดูก... ต้องการให้คนมีการออกกำลังกายบ้าง ข้อสุดท้ายจริงๆรักษาน้ำหนักตัวอย่าให้น้ำหนักเกิน หมอนรองกระดูกจะยิ่งพังเร็ว”
สุขภาพหลังที่ไม่ดีจะส่งผลต่อเนื่องทำให้สุขภาพโดยรวมแย่ลง... หลังไม่ค่อยดีก็ออกกำลังกายไม่ได้ เป็นผลให้หัวใจไม่แข็งแรง มีโรคเบาหวานตามมา บางรายข้อกระดูกสันหลังเสื่อมที่คอก็ทำให้นอนหลับไม่สนิท พักผ่อนไม่เพียงพอสุขภาพก็แย่ลงเรื่อยๆ
โรคปวดหลังเป็นภัยเงียบของคนไทยที่ป้องกันได้...ที่ต้องเน้นย้ำ โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเกิดได้กับทุกวัย อาจจะต่างกันเพียงอาการมากน้อยไปกว่ากันเท่านั้น.
...