ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลุก “คนสิงห์มหาดไทยรุ่นใหม่” พร้อมทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการ ย้ำต้องทำตัวเหมือนรวงข้าวโน้มลงหาพระแม่ธรณียิ่งใกล้ชิดติดดินมากคือ การนอบน้อมต่อประชาชน
วันที่ 6 ก.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการปฐมนิเทศข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ และข้าราชการที่โอนมารับราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปฐมบท คนมหาดไทย” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีข้าราชการเข้ารับการอบรมจำนวน 76 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นหลักสูตรติวเข้ม “คนสิงห์มหาดไทยรุ่นใหม่” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับข้าราชการให้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานราชการอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คำว่า “มหาดไทย” มีความหมายในอีกมุมหนึ่ง “ไทย คือ ใจ” “มหาด คือ ใหญ่” ดังนั้น คนมหาดไทยจะต้องมีความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้คนทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องพัฒนาตัวเอง
“ตำแหน่งแรกที่บรรจุเข้ารับราชการคือตำแหน่งที่สำคัญที่สุด” ดังนั้น ต้องทุ่มเท เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบ งานของกระทรวงมหาดไทยตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ใจ” คนมหาดไทยต้องมี Passion หรือมีอุดมการณ์ในการที่จะทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยกันดูแลทุกข์สุข บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน
...
ขณะที่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบไปด้วยความสามารถ (Ability) ความรู้ (Knowledge) และทัศนคติ (Attitude) หากมีความสามารถ มีความรู้ แต่ทัศนคติไม่ดีก็จะเกิดความสำเร็จไม่ได้ อีกทั้งข้าราชการจำเป็นต้องทำตัวให้เป็นรวงข้าวโน้มลงหาพระแม่ธรณี รวงข้าวยิ่งใกล้ชิดติดดินมากเท่าไรยิ่งหมายถึงรวงข้าวที่มีเมล็ดข้าวมากที่สุด คือ การนอบน้อมต่อประชาชน เข้าถึงประชาชน ดูแลประชาชนดุจญาติมิตร และข้าราชการต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จากงานที่ได้เคยทำมาผ่านผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน เอกสารต่างๆ
“ปัจจัยความสำเร็จในการทำงาน ข้าราชการต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการที่จะ Change for Good ทำให้มีอุดมการณ์ (Passion) ที่จะผลักดันขับเคลื่อนงาน และมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีในการทำงานเพื่อประชาชน นอกจากนั้นแล้ว ต้องอาศัยหลัก R-E-R เข้ามาใช้ในการบริหารงาน โดยสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) งานประจำ (Routine Jobs) เนื่องจากผู้ปฏิบัติมีความคุ้นชินเป็นปกติ ทำให้ละเลยการพัฒนาในหน้าที่นั้นๆ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนางาน ทำให้ดี ทำให้เสร็จ ทำให้ทันเวลา 2) งานพิเศษ/งานสำคัญ/งานเสริม (Extra Jobs) ซึ่งเป็นงานที่นอกเหนือจากงานประจำ เป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้หัวใจในการทำงาน ผู้ปฏิบัติงานต้องมี อุดมการณ์ (Passion) และ ทัศนคติ (Attitude) เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรและประชาชน เพื่อช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ และ 3) การรายงาน (Report) ข้าราชการต้องทำหน้าที่สื่อสารให้เกิดการรับรู้ รับทราบถึงสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่องค์กรและ 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ได้ร่วมกันทำ โดยสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ และสิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ร่วมกันประชาสัมพันธ์สิ่งที่ดีๆ ที่องค์กรเราได้ทำ และรวบรวมความเห็นของพี่น้องประชาชนนำกลับมาปรับปรุงกระบวนการการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม.