รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือค่าอุปโภค บริโภค ลดภาระค่าครองชีพต่อเนื่อง เตรียมเสนอ ครม. เคาะมาตรการส่วนลดค่าไฟฟ้าผู้ใช้ 2 กลุ่ม ช่วง ก.ย.-ธ.ค. 65 หลังปรับขึ้นค่า Ft
วันที่ 2 ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านความผันผวนของราคาพลังงาน และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป มีการออกมาตรการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนในระยะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมแผนล่วงหน้าเพื่อให้สามารถให้การช่วยเหลือตามแผนได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น
ในส่วนของแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากการปรับขึ้นค่า Ft รอบใหม่ ที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นั้น คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุม ครม. ในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นแนวทางที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา จะเป็นในลักษณะแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565
2. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดแบบขั้นบันได จากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปนี้จะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน ซึ่งหากมีมติเป็นอย่างไรรัฐบาลจะเร่งแจ้งให้ประชาชนได้ทราบในรายละเอียดโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังมีมติให้คงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพของประชาชน ถึงแม้ราคาน้ำมันยังคงผันผวนปรับตัวเพิ่มขึ้น
...
นายอนุชาฯ กล่าวต่อถึงเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่เป็นเวลา 3 เดือน (ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2565) เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง อาทิ เงินคืนค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน, เงินเพิ่มเบี้ยความพิการ 200 บาทต่อเดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อ 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 2565) เป็นต้น
“สถานการณ์ปัจจุบันมีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นหลายปัจจัย ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ติดตามประเมินสถานการณ์และเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง วางแนวทางบริหารจัดการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ออกมาตรการเพื่อช่วยค่าครองชีพในสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ”.