“ชัชชาติ” นำประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เตรียมความพร้อมโควิด-19 สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำประชาชนปฏิบัติมาตรการเคร่งครัด ห่วงไข้เลือดออก เผย ยังติดตามผู้ป่วยฝีดาษลิงใกล้ชิด

วันที่ 31 ส.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 โดยในที่ประชุม สำนักอนามัยรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ใน กทม. ยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คงตัว ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตยังเป็นกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ และมีประวัติโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น จำเป็นต้องเร่งการให้ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) เสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยเร็ว

ในส่วนของ กทม. ได้รับจัดสรร LAAB จำนวน 890 โดส โดยสำนักอนามัย กระจายให้โรงพยาบาลเอกชนและสังกัดอื่นๆ 200 โดส กรมการแพทย์ กระจายให้โรงพยาบาลในสังกัด 200 โดส และ UHosNet กระจายให้โรงพยาบาลในสังกัด 490 โดส ดำเนินการฉีดไปแล้ว 254 โดส คิดเป็นร้อยละ 28.54

ทางด้านการเตรียมความพร้อมด้านยารักษาโควิด-19 รองรับการเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาต้านไวรัส ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้กับ กทม.อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ กทม. ได้ดำเนินการจัดซื้อยาต้านไวรัสเองด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการยาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ

...

ขณะที่ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า วันนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์ทั้งหมด รวมถึงการเตรียมในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2565 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสถานะโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย ไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งในช่วงเดือน ก.ย. นี้ จะเป็นช่วงที่ กทม. เตรียมพร้อมขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ อาทิ การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ การเฝ้าระวัง แผนการเปลี่ยนผ่านและแผนรองรับการระบาด ซึ่งหลังจากเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอาจมีการผ่อนคลายมาตรการทำให้อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งข้อปฏิบัติที่ต้องสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจนว่าเมื่อเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention : UP) และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ยังต้องถือปฏิบัติอยู่โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข จะเร่งในการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู สำหรับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร ยังเปิดให้บริการทุกจุด โดยสามารถวอล์กอินและรับบริการผ่านการนัดหมาย สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือผู้ที่เดินทางยากลำบาก สามารถติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน จะมีทีมเชิงรุกเข้าไปให้บริการวัคซีน โดยปัจจุบันตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 เข็มกระตุ้นอยู่ที่ 69% ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ

จากนั้น นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคดีขึ้น แต่สำหรับกลุ่ม 608 ไม่ได้ดีขึ้น ยังมีความเสี่ยงสูง มีการเสียชีวิตและใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ ดังนั้นจึงต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหากฉีดเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือนแล้ว ซึ่ง กทม. พร้อมให้บริการตลอด ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ฉีดวัคซีน กทม. อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 7 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันใน กทม. 3 ราย ในพื้นที่เขตบางพลัด เขตคลองเตย และเขตบึงกุ่ม สำนักอนามัยได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและให้คำแนะนำผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยเกี่ยวกับการสังเกตอาการ หากมีอาการให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขทันที และติดตามอาการผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจนครบ 21 วัน

นอกจากนี้ ในส่วนของสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ กทม. ข้อมูลผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-20 ส.ค. 2565 มีจำนวน 1,766 ราย ผู้ป่วยสะสม (รายเดือน) ตั้งแต่วันที่ 1-20 ส.ค. 2565 จำนวน 333 ราย ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นของสัปดาห์นี้ (สัปดาห์ที่ 33) เพิ่มขึ้น 155 ราย

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นปีของการระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทาง กทม. แจ้งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการทั้งโรงเรียน สถานพยาบาล ชุมชนต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. ประกอบด้วย “ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติ” แหล่งน้ำทั้งหมดต้องดูแลกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไป เพื่อไม่ให้เกิดตัวแก่ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกย้อนหลัง 5 ปีลดลง ในส่วนของการฉีดพ่นหมอกควัน จะใช้ในกรณีที่มีโรคเกิดขึ้นแล้วหรือมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น เพื่อจะไปควบคุมตัวแก่ที่มีเชื้อโรคแล้ว จะไม่พ่นทั่วไป โดยจะใช้มาตรการที่จัดการกับลูกน้ำยุงลาย พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก.