ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ 31 ส.ค. 65

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จึงขอยกเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญมาดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรให้กระบวนการและขั้นตอนการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศกำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้บังคับได้ต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 38/2565 (ครั้งที่ 805) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับ “โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก” หมายความว่า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประกาศใช้ สำหรับการคำนวณเงินค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย

...

ส่วน “ค่า Ft” หมายความว่า อัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้ปรับปรุงเงินค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนในระหว่างที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีผลบังคับใช้ และเป็นอัตราที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีก และค่า Ft ขายส่ง

“ค่า Ft ขายปลีก” หมายความว่า ค่า Ft ที่นำมาใช้ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก

“ค่า Ft ขายส่ง” หมายความว่า ค่า Ft ที่นำมาใช้ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง

“ผู้ใช้ไฟฟ้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การประกอบกิจการระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ รวมถึงผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจัดส่งหรือจำหน่ายให้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า พ.ศ. 2512

ข้อ 4 การปรับค่า Ft ในแต่ละปีปฏิทินมีรอบระยะเวลา ดังต่อไปนี้

(1) เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
(2) เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
(3) เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม

ข้อ 5 ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและ ปตท. จัดทำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งให้ กฟผ. เพื่อใช้ในการจัดทำข้อเสนอประมาณการค่า Ft เสนอต่อ กกพ. เพื่อให้ความเห็นชอบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 75 วัน ก่อนวันปรับค่า Ft ในแต่ละรอบระยะเวลาตามข้อ 4

ข้อ 6 ข้อมูลที่นำมาใช้จัดทำข้อเสนอประมาณการค่า Ft ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) ค่าไฟฟ้าขายปลีก ให้นำค่า Ft ขายปลีก ที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบ คูณกับปริมาณพลังงานไฟฟ้า แล้วนำไปรวมกับคำไฟฟ้าที่คำนวณตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกในแต่ละเดือนในการเรียกเก็บคำไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย ระหว่างรอบระยะเวลาที่ค่า Ft มีผลใช้บังคับ

ขณะที่ข้อ 10 มีการระบุว่า กกพ. จะพิจารณาใช้แนวทางในการกำหนดค่า Ft ดังต่อไปนี้

(1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
(2) ควรอยู่ในระดับที่ทำให้มีการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ
(3) ควรจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประกอบพลังงาน
(4) คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต
(5) คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการจัดหาไฟฟ้าเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล
(6) การคำนวณอัตราค่าบริการต้องชัดเจน โปร่งใส และต้องประกาศเผยแพร่อัตราค่าบริการ
(7) ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้พลังงานหรือผู้ประสงค์จะใช้พลังงานอย่างไม่เป็นธรรม

ข้อ 11 ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 64 และมาตรา 65 มติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนด กกพ. อาจพิจารณาปรับค่า Ft แตกต่างจากข้อเสนอประมาณการค่า Ft เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าและความเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน หรือรักษาเสถียรภาพของอัตราคำไฟฟ้าจากปัจจัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี

ข้อ 12 เมื่อ กกพ. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอประมาณการค่า Ft แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ผ่านระบบสารสนเทศของสำนักงาน กกพ.

ข้อ 13 กกพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ 12 มาใช้พิจารณาเพื่อกำหนดค่า Ft และแจ้ง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้เสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดรอบระยะเวลาตามข้อ 4

ข้อ 14 ให้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศเผยแพร่ค่า Ft ตามที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การเผยแพร่อัตราค่าบริการ ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนถึงกำหนดรอบระยะเวลาตามข้อ 4

ข้อ 15 กรณีมีเหตุจำเป็นที่อาจส่งผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆ ในการพิจารณาค่า Ft กกพ. อาจพิจารณาปรับปรุงปัจจัยดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงได้

ข้อ 16 ให้ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และให้ กกพ. เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้

ข้อ 17 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการทบทวนและประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่