เลขาธิการ สทนช. สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทบทวนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รองรับการเปลี่ยนแปลงโลก สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน
วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ จ.ชลบุรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานมอบนโยบายในพิธีเปิดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ “โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” พร้อมทั้งนำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ และสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการร่วมกับ 9 กระทรวง 40 หน่วยงาน ภายใต้ กนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการติดตามประเมินผลให้สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินการระยะต่อไปได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6. การบริหารจัดการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ
...
ปัจจุบันความก้าวหน้าการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 36.2 ซึ่งพบว่ามีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือยังไม่มีการขับเคลื่อน บางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน ประกอบกับมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อเป้าหมายในแผนแม่บทฯน้ำเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก
ทั้งนี้เพื่อให้มีการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ของทั้ง 22 ลุ่มน้ำ สทนช. จึงร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำยกร่างการปรับปรุงแผนแม่บทน้ำในระยะถัดไปปี 2566-2580 เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและภาคประชาชนให้ครอบคลุมรอบด้าน โดยแบ่งการจัดประชุมเป็นกลุ่มย่อยรวม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคเหนือ โดยกระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำครั้งนี้จะเน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศและการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สะท้อนปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป