กระทรวงมหาดไทย เริ่มแล้ว “คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย” 2565 ระดับประเทศ ระดมสุดยอด OTOP ที่สุดแห่งคุณค่าภูมิปัญญา สร้างความเชื่อมั่น ผลักดันสู่สากล

วันที่ 23 ส.ค. 2565 นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 ระดับประเทศ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดำเนินการคัดสรร สุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion) ต่อเนื่องจากการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งปัจจุบันมียอดการลงทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 95,567 ราย/กลุ่ม 218,209 ผลิตภัณฑ์ โดยการคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย จะดำเนินการเป็นประจำทุก 2 ปี และกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 7 ครั้ง คือ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล

...

“วันนี้เป็นวันที่มีค่าสำหรับพี่น้องประชาชน เรามีส่วนร่วมในการสร้าง OTOP กว่า 200,000 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่การันตีว่าสินค้า OTOP จะถึงมือผู้บริโภคด้วยคุณภาพและมีประสิทธิภาพ การทำงานของคณะกรรมการแต่ละท่านล้วนแต่ได้ใช้ความรู้ความสามารถซึ่งมั่นใจได้ว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์ตามมา งานแต่ละชิ้นที่ได้รับการพิจารณาตัดสินด้วยความใส่ใจ ทั้งยังมีความร่วมมือร่วมแรงใจ จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้มาช่วยกันในวันนี้ ซึ่งเศรษฐกิจของบ้านเราจะต้องขับเคลื่อนไปด้วย 4 กิจกรรม คือ 1.การลงทุนภาครัฐ 2.การส่งออก 3.การลงทุนกับภาคเอกชน และ 4.การบริโภคภายในประเทศ สินค้า OTOP ของเราเกิดอย่างน้อย 2 กิจกรรม คือลงทุนโดยภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนบริโภคสินค้าภายในประเทศ ทั้งยังมีการส่งออกภายนอกอีกด้วย นี่คือผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศของเรา และขอขอบคุณทุกหน่วยงาน คณะกรรมการทุกท่าน และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยวันนี้” รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย โดยให้ผู้ประกอบการ จำนวน 1 ราย สามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรฯ ได้ทั้งสิ้น จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ หรือ 3 ชุดผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่ามีผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรทั้งสิ้น จำนวน 15,707 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งออกเป็น ประเภทอาหาร 3,943 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องดื่ม 631 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย 6,404 ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 3,637 ผลิตภัณฑ์ ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1,091 ผลิตภัณฑ์ โดยกอ.นตผ. ได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐ 6 หน่วยงาน ทำหน้าที่ตรวจและให้ค่าคะแนนผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร คณะที่ 1 โดย “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” และคณะที่ 2 โดย “มหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ประเภทเครื่องดื่ม โดย “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย โดย “กระทรวงอุตสาหกรรม” ประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก โดย “กระทรวงพาณิชย์” และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดย “กระทรวงสาธารณสุข”

“การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2565 กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 21 - 30 สิงหาคม 2565 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก่อนหน้านี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านช่องทางการตลาดในการจำหน่าย การสร้างรายได้ รวมทั้งการคัดสรร หรือ ติดดาว OTOP ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ดังนั้นการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ในปีนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ทั้งผู้ผลิตผู้ประกอบการ มีการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีความพร้อมสามารถจะออกสู่ตลาด อีกทั้งยังแข่งขันได้ทั้งภายในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันคณะกรรมการคัดสรรฯ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเป็นผู้พิจารณาให้ค่าคะแนนตามคุณภาพ ตามมาตรฐาน การคัดสรรนี้จะช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ OTOP ทุกกลุ่มให้มีการพัฒนาสอดคล้องกับยุคสมัย และทำให้เอกลักษณ์จากท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย มีชื่อเสียงในระดับสากล รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก นำพาอาชีพ รายได้ และความสุขมาสู่ทุกชุมชน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว.