24ส.ค.65 สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ “บิ๊กตู่” ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ขยับมุมมองชนิดฟันธง

พร้อมชี้และย้ำหัวหมุดให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว (รธน.57) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “รับตำแหน่งนายกฯ” ตั้งแต่ “23 ส.ค.57” และใช้อำนาจปกครองบริหารประเทศตาม รธน.57

ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ปี 57

ขณะที่มีคนเริ่มนับปี 60 หรือปี 62 หลัง รธน.60 ประกาศใช้ เขามองว่า รธน.57 ไม่มี บัญญัติจำกัดวาระ 8 ปี นายกฯ จะไปเริ่มนับตรงนั้นได้อย่างไร

ตรงนี้อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต้องเข้าใจ รธน.57 ถูกยกร่างภายใต้บริบทพิเศษหลังทำการรัฐประหาร สังเกตได้ว่ามีบทบัญญัติสั้นๆถึงการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆใน รธน. เพราะใช้บังคับช่วงสั้นๆ

บทบัญญัติจำกัดวาระ 8 ปี นายกฯมันอยู่ในมาตรา 5

กรณี รธน.ไม่มีบทบัญญัติใด ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมันควบถึงกฎเกณฑ์ที่นายกฯต้องอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ด้วย

...

ต่อให้ รธน.ไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายถึง...มันไม่มี แต่มันอยู่ในฐานะ ประเพณีทางการเมือง หลักของ รธน.ในการค้นหาว่าอะไรคือ “ประเพณีตรงนี้” ให้วิ่งกลับไปหา “รธน.50” กำหนด วาระ 8 ปี นายกฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รธน.60 ไม่ได้ยืนอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองตั้งแต่ต้น มันถูกสร้างจากโครงสร้างตาม รธน.57 พอ รธน.60 ประกาศใช้ ก็มีบทบัญญัติกำกับวาระไม่ให้นายกฯอยู่เกิน 8 ปี มันมีมาตลอด ไม่เคยขาดตอน

หลายคนพูดถึง “บทเฉพาะกาล รธน. 60” จริงๆแล้วทำหน้าที่เพียงแค่ “รับไม้ต่อ” ประเทศขาดหายจาก ครม.หรือฝ่ายบริหารไม่ได้ เพราะจะเกิดสุญญากาศ

ทั้งหมดนี้สามารถตอบโจทย์ถึงการตีความย้อนหลังได้ด้วย โดยชี้ให้เห็นว่ามันเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ไม่มีเรื่องการย้อนหลังอะไรทั้งสิ้น

ถ้าสังเกตให้ดี การตีความตามหลักการบังคับใช้ปกติ มันไปสอดคล้องเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างด้วยว่า เขาต้องให้นับรวมกับระยะเวลาก่อนหน้าที่ รธน.60 ประกาศใช้

หากไม่ดูที่เจตนารมณ์ของ รธน. ปมเป็นนายกฯห้ามเกิน 8 ปี เริ่มนับปี 57-60-62 ล้วนมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรองรับได้หมด ผศ.ดร.พรสันต์ บอกว่า ตามหลักการตีความบังคับใช้กฎหมาย

ดูตามลายลักษณ์อักษร มันชัดเจนก็ไม่ต้องไปดูเจตนารมณ์

การวิ่งไปหาเจตนารมณ์กรณีตัวถ้อยคำกำกวม ก็ไปสืบค้นเจตนารมณ์ของผู้ยกร่าง เอาเข้าจริงตามหลัก เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างก็ไม่ได้หมายถึงถูกต้องเสมอไป สุดท้ายหลักกฎหมายมีผลเหนือเจตนารมณ์ของผู้ร่าง

“การนับวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นปี 60 จบปี 68 หรือนับปี 62 จบปี 70 ขอเปรียบเปรยว่า ประหนึ่งคุณกำลังยืนยันว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก

เราเห็นกันอยู่ในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ภายใน รธน.57 ต้องเริ่มนับปี 57 ยังนึกไม่ออกไปเริ่มนับปี 60 หรือปี 62 ได้อย่างไร

แม้มีบางคนยกกรณีมาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่นับรวม ขอบอกว่าคุณกำลังเอาเรื่องที่มาของนายกฯ ปะปนกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ

โดยไม่ว่ามาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งและใช้อำนาจ ในทาง รธน. เริ่มนับหนึ่งทันที”

ฉะนั้น 8 ปี นายกฯ “บิ๊กตู่” ตาม รธน. ถือว่าจบ!!

มีการพูดถึงนายกฯ จะยุบสภาหรือลาออก ผศ.ดร.พรสันต์ บอกว่า บางครั้งอาจคาดการณ์เร็วเกินไป แต่เป็นอีกซีเนริโอหนึ่งที่เกิดขึ้นก็เดินตามขั้นตอนตามที่ รธน. กำหนด

ส่วนตัวคิดว่าต้องดูที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นไปยังศาล รธน. ตรงนี้บอกนัยทิศทางการเมืองได้พอสมควรจะไปต่ออย่างไร

สมมติรับเรื่องแล้วมีเงื่อนไขหรือไม่ เช่น สั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าสั่งหยุด!! “บิ๊กตู่” ปฏิบัติหน้าที่ต่อไม่ได้ ครม.อื่นก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ “บิ๊กตู่” และ ครม.ปฏิบัติหน้าที่ปกติต่อไป

สมมติ “บิ๊กตู่” ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติ ต่อมาศาล รธน.มีคำวินิจฉัยออกมาภายหลังให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วกิจกรรมต่างๆก่อนคำวินิจฉัยถือว่ามีผลในทางกฎหมาย เพราะ รธน. กำหนดให้ถือว่ามันไม่ได้มีผลกระทบ

แต่ทางการเมืองเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าจับสัญญาณหลายกลุ่มเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยสนับสนุน “บิ๊กตู่” มาก่อน ตรงนี้มีนัยทางการเมือง แต่มีบางส่วนเห็นว่าต้องอยู่ต่อจนครบวาระ

ฉะนั้นหมุดหมายสำคัญในวันที่ศาล รธน. รับคำร้องจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร รับแล้วมีคำอธิบายต่อไปหรือไม่ว่า หยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญ

นับเป็นวันที่ค่อนข้างเปราะบางของสังคม

ดูท่าทีของผู้มีอำนาจพยายามฝืนธรรมชาติ ผศ.ดร.พรสันต์

บอกว่า เมื่อ รธน.เดินหน้าไปแล้ว คุณพยายามดึงฝืนมันถอยหลังกลับมา

สุดท้ายเกิดปะทะ เกิดความรุนแรงตามมา

ประชาชนต้องมารับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ปกติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีโดยใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ พลังอำนาจรัฐไทย ผศ.ดร.พรสันต์บอกว่า ตามหลักต้องตัดสินคดีบนพื้นฐานตัวกฎหมาย ผลวินิจฉัยกรณี 8 ปี คาดไม่เป็นเอกฉันท์

แต่ตามความเห็นทางวิชาการ การตีความปี 62 ไปจบปี 70 เข้าข่ายตีความสุดโต่งไป!! คำอธิบายตามหลักการค่อนข้างยาก ถ้านับจากปี 60 จบปี 68 คำอธิบายในทางหลักการยังพออธิบายได้อยู่

ตามบริบททางการเมืองอาจสอดคล้องกับที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หลุดปากออกมาหรือเปล่าว่า นายกฯ จะอยู่อีก 2 ปี

ฉะนั้นคำวินิจฉัยออกมารูปแบบไหน ต้องอธิบายขยายความให้ชัด ให้สังคมปราศจากข้อสงสัย ต้องเป็นไปตามหลักการ ถ้าไม่อธิบายให้เคลียร์ เกรงเป็นปัจจัยหนึ่ง...

...นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมได้

เพราะประชาชนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะพอแล้ว 8 ปีครบแล้ว ท่ามกลางความกดดันในทางเศรษฐกิจ ปัญหาต่างๆที่รุมเร้า

ก็อยากจะลองคนใหม่ๆมาทำการบริหารประเทศ เพื่อนำพาชีวิตของประชาชนดีขึ้น ให้หลุดพ้นจากวิกฤติต่างๆ

ถ้าวินิจฉัยเคลียร์ น่าจะโอเคขึ้นระดับหนึ่ง แม้ไม่ถึงขั้นแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานมากๆ

แต่เริ่มต้นคลี่คลายความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง

ก่อนหน้านั้นมีสถิติงานวิจัยจากต่างประเทศสำรวจโลกใบนี้ประเทศไหนมีความขัดแย้งในสังคมมากน้อย แค่ไหน ดัชนีความขัดแย้งของสังคมไทย เริ่มต้นตั้งแต่รธน.50 อยู่ในระดับ 7-8 ตอนใช้ รธน.57-รธน.60 พุ่งสูงสุดเต็ม 10

ท่าทีของผู้มีอำนาจต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดปม 8 ปี ผศ.ดร.พรสันต์บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องทราบดีอยู่แล้ว เพราะ รธน. กำหนดไว้ชัดเจน

ฉะนั้นนายกฯคิดแค่เป็นเรื่องของตัวเอง ของพรรคการเมืองไม่ได้ ขอให้มองมุมกลับว่า การอยู่หรือไปมีผลต่อประชาชน และเป็นที่รับรู้กันว่า รธน.60 ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

การเมืองใน รธน.ต้องเป็น 2 ระบบทำงานคู่กันระหว่างการเมืองระดับนักการเมืองกับการเมืองระดับประชาชนที่ซัพพอร์ตกัน ถ้าแยกทำงานคู่ขนานแบบนี้ นักการเมืองไม่สนประชาชน ประชาชนไม่สนนักการเมือง

เมื่อเกิดวิกฤติ รธน. สังเกตให้ดีว่า องค์กรตาม รธน.-นิติบัญญัติ-รัฐบาล-ตุลาการ เริ่มขัดแย้งกันเอง

สุดทายเกิดวิกฤติ รธน.

นั่นคือสัญญาณอันตราย

ทีมการเมือง