นพ.ชลน่าน นำทีมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นสอบ 8 ปีนายกฯ ประยุทธ์ ให้ “ชวน” ส่งต่อศาลรธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมแจง 4 กรณีที่รักษาการต่อไม่ได้ วอนร่วมจับตาช่วงวิกฤติ เชื่อไม่ชิงยุบสภาก่อน
เมื่อเวลา 13.05 น. วันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับมอบหนังสือจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านฯ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร ร้องเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยนายชวน กล่าวว่า หลังจากนี้ทางสภาฯ จะไปตรวจสอบรายชื่อที่ใช้ยื่นว่าลายเซ็นตรงกันหรือไม่ ก่อนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยคาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ และสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ส่วนเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ที่ส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เมื่อวานนี้ กำลังรอให้ทางกกต.ตอบกลับมาอีกครั้ง
...
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมเข้าชื่อ 171 รายชื่อ ยื่นตามรัฐธรรมนูญ ม.82 ส่วนหนังสือคำร้อง เป็นการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของนายกรัฐมนตรี ตาม ม.170 วรรค 2 และ ม.158 ในคำร้องนี้มีการให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงที่ตัวนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ให้สิ้นสุดการทำหน้าที่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำสั่ง รวมถึงมีเหตุผลเรื่องข้อกฎหมาย ที่ได้ทำคำร้องไป โดยอ้างอิงข้อกฎหมายประกอบ อาทิ ม.264 ที่เป็นบทเฉพาะกาล ที่พูดถึงการสิ้นสุดตำแหน่ง ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือเรื่องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“โดยสรุปคำร้องเรา เรื่องที่ 1 ก็คือร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนะครับ ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรค 2 และ ม.158 เรื่องที่ 2 เนื่องจากเราเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ระหว่างที่เรายื่นคำร้อง เราเลยขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น ในการใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า หากศาลฯ มีคำวินิจฉัยให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ก็จะถือว่าเป็นที่สุด สิ่งต่อไป คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่รัฐธรรมนูญได้เขียนรองรับเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ให้ ครม.ทั้งคณะรักษาการแทนได้ รวมถึงตัวนายกฯด้วย แต่มี 4 กรณีที่นายกฯ ไม่สามารถรักษาการได้ และต้องเปลี่ยนเป็นคนอื่น คือ
1. เข้าลักษณะต้องห้ามตาม ม.98
2. สามารถพิสูจน์ได้ว่านายกฯ มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่เป็นที่ประจักษ์ เช่นมีเรื่องทุจริต
3. กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
4. กรณีทำความผิดตาม ม.144 เรื่องการพิจารณางบประมาณ นำงบประมาณไปใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 จะรักษาการแทนได้ คือ ศาลต้องสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนมีคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า นายกฯ สามารถรักษาการไปจนครบวาระ คือ 24 มี.ค. 2566 ได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กรณีที่นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ที่ไม่ใช่การยุบสภา ต้องไปสรรหานายกฯ ตามม.158 และ ม.159 ที่ต้องเลือกนายกฯ ในสภาฯ ให้ได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าถ้ารัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ไม่ว่าจะในบัญชีหรือนอกบัญชี พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวอีกว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ศาลย่อมมีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจพิจารณาตามข้อกฎหมายเป็นหลัก แต่เรามีเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเป็นข้อประกอบด้วย ส่วนจะไปพิจารณาย้อนหลังหรือไม่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันมาก แต่เรื่องกฎหมายอาญาถือเป็นคนละเรื่องกัน จึงแล้วแต่ว่าคำวินิจฉัยจะออกทางไหน แต่ฝ่ายค้านมั่นใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ใช้ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเข้ามาประกอบคำวินิจฉัย โดยข้อเท็จจริงจะมีผลอย่างมาก เพราะสิ่งที่เจตนารมณ์เขียนไว้ชัด คือ เรื่องอยู่ยาว ผูกขาดอำนาจ เกิดวิกฤติการเมือง ที่ตนเองเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบเข้ามาดูประกอบคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มว่า การยุบสภาก่อนวันที่ 22 ส.ค. 2565 เป็นทางออกที่ดีของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สามารถทำได้เพราะอำนาจอยู่ที่ตัวนายกฯ แต่เรื่องเหตุผลที่จะใช้ยุบสภา เรื่องแรกสุดที่ต้องคำนึงคือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายสภามีข้อขัดแย้งกันหรือไม่ เพราะฝ่ายสภาไม่มีความผิดที่จะทำให้ฝ่ายบริหาร บริหารต่อไม่ได้ จึงใช้เหตุนี้มายุบสภาคงยาก จึงต้องใช้เหตุผลอื่น เช่น ต้องการรักษาอำนาจอยู่ยาว แต่หากยุบสภาจริง จะไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้งเพราะกฎหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนส่งไปยัง กกต. และช่วงรอ กกต. ทักท้วง กฎหมายมันต้องกลับมาที่สภาต่อ และต้องใช้สภาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อยู่ ถ้าไม่มีสภากฎหมายก็จะค้างอยู่ ขยับต่อไปไม่ได้ เว้นแต่เข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว แต่เชื่อว่าหากมีการยุบสภาก่อนวันที่ 22 ส.ค. นี้ อย่างไรกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ทัน และหากไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง ก็จะเกิดสุญญากาศ ทำให้นายกฯ อยู่ยาว ไปเสริมแรงต้านของประชาชน และจะเกิดกระแสต่อต้าน และเกิดวิกฤติการเมืองตามมา
“ตนเองจึงเชื่อว่าคงไม่ทำ และภาวนาว่าอย่าให้ทำ จึงขอให้ติดตามช่วงวันที่ 22 และ 23 นี้ที่เป็นวิกฤติของประเทศ เป็นช่วงการตัดสินใจที่สำคัญ จึงขอให้สื่อมวลชนเป็นหูเป็นตา ที่สังคมได้เสนอต่อท่านนายกฯโดยเฉพาะข้อเรียกร้อง อย่าอยู่ยาว อย่าใช้อำนาจ อย่าก่อให้เกิดความขัดแย้ง”
ภาพ วัชรชัย คล้ายพงษ์