ไม่ทราบว่าจะยังจำกันได้หรือไม่ ในช่วงท้ายๆของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร คสช. เคยสัญญาว่าจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ในเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะขจัดความยากจนไม่ได้ รัฐบาลยังยอมรับว่านอกจากจะไม่ลดลงแล้ว ความยากจนในหมู่คนไทยยังเพิ่มขึ้นอีก หลักฐานที่ชัดเจนคือบัตรคนจน
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติโควิด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคนเป็นกรรมการ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ชี้แจงว่าในการลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านคนเป็น 15-16 ล้านคน
ยอมรับว่าภายในปีเดียวประเทศ ไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีก 2 ถึง 3 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของประชากรกว่า 66 ล้านคน คน 15 ถึง 16 ล้านคน จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและรับเงินจากรัฐเดือนละ 200 หรือ 300 บาท
เป็นหลักฐานยืนยันว่าคนจนในไทย นอกจากไม่ยอมลดลง หรือถูกขจัดให้สิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยแล้วยังเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะนี้มีคนจนแบบใหม่เกิดขึ้นอีก นั่นก็คือ “คนจนเงียบเชียบ” ได้แก่บรรดานักเรียน นักศึกษา ที่หลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนมี 121,612 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กครอบครัวที่ยากจน
ต้องถือว่ายังเคราะห์ดีที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถ “พาน้องกลับมาเรียน” ได้ถึง 31,446 คน แต่อีก 31,214 คน ไม่ยอมกลับมาเรียน อีก 5,628 คน ยังตามหาอยู่ ส่วนผู้ที่ไม่ยอมกลับมาเรียนอ้างว่าจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ไม่ประสงค์จะเรียนต่อ บางคนย้ายถิ่นที่อยู่ หรือผู้ปกครองมีรายได้น้อย
กลายเป็นเรื่องเศร้า ถ้าหากความยากจนเป็นเหตุที่ทำให้ไม่ได้เรียนต่อ ผลการสำรวจเรื่อง “ความยากจนหลากมิติ” ของสหประชาชาติ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะยากจน ยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งๆ ที่อาจมีรายได้สูงกว่า แต่กลับยากจนกว่าเพื่อนบ้านในด้านการศึกษาและโภชนาการ
...
ทั้งๆที่กฎหมายสูงสุดของไทย คือรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติหลักการที่เรียกว่า “เรียนฟรี 12 ปี” ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 ฉบับปัจจุบันตอกย้ำด้วยรัฐต้องตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุน ทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ไม่ทราบว่ามีใครสนใจในปัญหาสำคัญนี้มากน้อยเพียงใด.