- หลายพรรค ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เอาสูตรหาร 500 ส่อทำประชุมร่วมรัฐสภา ถกกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ล่มอีกวันนี้ ทั้งเพื่อไทย ก้าวไกล ต่างค้าน ขณะที่ พปชร. ต้องการกลับมาใช้สูตรหาร 100 เหมือนเดิม
- รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ การประชุมวันนี้ส่อแววล่มสูง ชี้ชัดจะสูตรไหนก็มีคะแนนเสียงตกน้ำด้วยกันทั้งนั้น การที่บอกว่าหาร 500 เสียงไม่ตกน้ำ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ
- ยืนยันระบบเลือกตั้งที่ดีต้องสะท้อนเจตจำนงของประชาชน พร้อมถามกลับทั้ง 2 สูตรประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการนี้ เพราะเรื่องเสียงข้างมากลากไป การแจกกล้วย งูเห่า และ ส.ส.ฝากเลี้ยงก็ยังมีอยู่
การประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. 2565 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สูตรหาร 500 ถือเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ทันกรอบใน 180 วัน ส่อแววจะเป็นหมันอีกครั้ง หลังจากล่มมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อจับกระแสของแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ทางพรรคเพื่อไทย ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เอาสูตรหาร 500 เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญชัดเจน จึงขอประกาศว่าจะไม่ขอร่วมลงมติโหวต เพื่อร่วมทำสังฆกรรมด้วย แต่จะอยู่ขออภิปรายร่างดังกล่าวจนจบ แต่จะไม่เป็นองค์ประชุมให้
...
ส่วนทางพรรคพลังประชารัฐ แม้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะสั่งลูกพรรคให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 15 ส.ค. นี้ แต่ก็การันตีไม่ได้ว่าจะอยู่ร่วมโหวตลงมติด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อทบทวนดูแล้ว จากที่ในวาระ 2 มีการสนับสนุนให้ใช้สูตรหาร 500 สรรหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เมื่อมาคำนวณอย่างถี่ถ้วนอาจเพลี่ยงพล้ำ และอาจได้ไม่คุ้มเสีย จึงมีกระแสข่าวหนาหูว่าต้องการกลับลำมาใช้สูตรหาร 100 เหมือนเดิม ทั้งนี้จะทำอย่างไรได้เมื่อวาระ 2 สภาฯรับหลักการสูตรหาร 500 ไปแล้ว มีทางเดียวคือต้องปล่อยให้สภาล่มเพื่อปัดตกสูตรหาร 500 และให้กลับไปใช้สูตรหาร 100 ของ คณะรัฐมนตรีตามเดิมต่อไป
เมื่อเช็กตามกระแสแต่ละพรรค พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนกรานไม่ร่วมสังฆกรรมทำสภาล่มด้วย เช่นเดียวกันพรรคภูมิใจไทย ที่มีแนวโน้มจะเข้าประชุมสภาพร้อมเพรียง ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา มีแนวโน้มจะปล่อยฟรีลูกพรรค เนื่องจากระบุว่า ส.ส.บางคนนัดลงพื้นที่พบปะชาวบ้านไว้แล้ว นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ถึงกับออกปากกราบขออภัยประชาชน ขณะที่พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าทุกคนเข้าร่วมประชุมรัฐสภา แต่จะแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 23 เป็นแบบหาร 500 เพราะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้คำนวณแบบหาร 500 ได้ ส่วนฟากฝั่งเสียง ส.ว.ล่าสุดก็เริ่มมีท่าทีว่าจะไม่เอาสูตรหาร 500 บ้างแล้วเช่นกัน แล้วการประชุมจะไปต่ออย่างไร
การประชุมร่วมรัฐสภาส่อแววล่มสูง
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ว่า การประชุมในวันที่ 15 ส.ค. มีแนวโน้มส่อแววล่มสูง หากพรรคการเมืองใหญ่ ต้องการหันไปใช้สูตรหาร 100 แม้ว่าพรรคกลาง พรรคเล็ก พรรคจิ๋ว รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จะเข้าร่วมประชุมก็ตาม หากพรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วยก็มีโอกาสล่มเป็นไปได้สูง เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็มี ส.ส.ในมือถึง 136 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็มีอยู่ในมือราว 97 คน เมื่อรวมกันก็ถือว่าเกินกว่า 200 เสียงแล้ว หรือแทบเกือบจะกึ่งหนึ่งของสภาฯ โดยยังไม่นับรวม ส.ส. พรรคอื่น และ ส.ว. ที่ไม่เข้าครบทั้งหมดด้วย
จะหาร 100 หรือหาร 500 มีคะแนนเสียงตกน้ำด้วยกันทั้งนั้น
รศ.ดร.ยุทธพร มองอีกว่าการกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 ของ ครม. สอดคล้องกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มากกว่า เพราะแก้ไขมาสู่ระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ สูตรหาร 100 จึงตรงกับคำนวณมากกว่า อีกทั้ง ใน ม.83 ได้เขียนไว้ชัดเจน ว่าระบบการเลือกตั้งถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และม.91 เรื่องการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการคิดคำนวณจะต้องสัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนที่พรรคนั้นได้รับ
“เมื่อพิจารณาแล้ว จะต้องหาร 100 อย่างแน่นอน ที่จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น หากหาร 500 โอกาสขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีโอกาสสูงกว่า ประการที่ 2 การหาร 100 เป็นการสะท้อนเจตจำนง ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ดีกว่าการไปหาร 500 ซึ่งมันทำให้บิดเบี้ยว เพราะไปหารผิดฝาผิดตัว ส่วนข้อเสียคือ พรรคการเมืองใหญ่ที่ได้เสียงเกินจำนวน หรือ Overhang มันก็จะเกิดขึ้นได้ แต่แน่นอนว่า ระบบเลือกตั้งแบบใด จะหาร 100 หรือ หาร 500 ไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบ และทุกระบบมีคะแนนเสียงตกน้ำด้วยกันทั้งนั้น การที่บอกว่าหาร 500 เสียงไม่ตกน้ำ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้แต่การใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ในปี 2562 ที่บอกว่า นับทุกคะแนน ผู้แทนทุกคน แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ เพราะคะแนนพรรคการเมืองบางพรรคหายไป แต่ต้องเอามาทดให้กับบรรดาพรรคจิ๋ว” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
สูตรหาร 100 พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ พรรคจิ๋วอาจสูญพันธุ์
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า โอกาสการใช้สูตรหาร 100 ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบกว่า เช่น พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคขนาดกลาง ที่มีฐานไปทั่วประเทศก็พอได้ลุ้นบ้าง แต่พรรคที่ไม่มีฐานก็ถือว่ายาก เช่นเดียวกับพรรคเล็ก ขณะที่พรรคจิ๋ว มีโอกาสจะสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะการหาร 500 หรือ หาร 100 แต่ถ้าหากใช้สูตรหาร 100 จำนวนพรรคเล็กจะน้อยลง และจะนำไปสู่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ คล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่ทำให้พรรคเล็กสูญพันธุ์ แต่พรรคจิ๋ว ที่มี 1 เก้าอี้จะสูญพันธุ์สูง จึงทำให้พรรคดังกล่าวต้องการใช้สูตรหาร 500
“การเสนอสูตรหาร 100 เสนอโดย กกต. ผ่าน ครม. น่าจะด้วยเหตุผลว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ปี 64 แล้วก็การแก้ปัญหาแกนหลักในขณะนั้น พรรครัฐบาล คือ พลังประชารัฐ คงต้องการจะแก้ปัญหาพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว การแก้ปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งยาก เกมต่อรองมากมาย ทั้งการแจกกล้วย งูเห่า ส.ส.ฝากเลี้ยง แต่พอการเมืองเปลี่ยน พรรคแกนหลักอย่างพลังประชารัฐ อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการหาร 100 จึงมาหาร 500 แทน แต่พอคิดคำนวณไปมา พรรคพลังประชารัฐกลับไม่ได้ประโยชน์มากนัก จากการหาร 500 จึงเปลี่ยนมาหาร 100 แต่ขณะที่พรรคขนาดกลางก็ไม่ได้ประโยชน์ทุกพรรค อย่างพรรคปชป. อาจจะได้เปรียบจากการหาร 500 เพราะมีฐานอยู่ทั่วประเทศ แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก แม้จะเป็นพรรคขนาดกลาง เพราะเป็นพรรคเฉพาะถิ่น จึงทำให้รัฐบาลหันกลับว่าใช้สูตรหาร 100 เช่นเดิม” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ระบบเลือกตั้งที่ดีต้องสะท้อนเจตจำนงของประชาชน
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าจะไปฟ้องร้อง ส.ส. ที่ขาดประชุม นั้นทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ขาดประชุมเกิน 120 วัน ตามรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มองว่า สูตรการหาร 100 หรือ การหาร 500 ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการนี้ เพราะการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ดีต้องสะท้อนเจตจำนงของประชาชน และต้องทำให้ง่าย เข้าถึงได้ ทำให้ประชาชนประเมินในทางนโยบายต่างๆได้ นอกจากนี้ ระบบการเมืองที่ดีต้องสร้างประสิทธิภาพประสิทธิผลทางการเมือง ส่วนการใช้สูตรหาร 100 มองว่า พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะงานหนักขึ้น เพราะยังไม่มีสัญญาณบวก ที่จะกลับมาเป็นพรรคที่ใหญ่ได้ ขณะที่สูตรการหาร 100 เอง มองว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่น่าจะถึงแลนด์สไลด์ เพราะเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบบัตร 2 ใบ แต่คนละเบอร์ โอกาสจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เป็นแบบเบอร์เดียว 2 ใบ มันจึงอาจจะยาก ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะการแตกตัวออกไปของพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐ กลายมาเป็นพรรคต่ำร้อย อีกทั้งการเกิดขึ้นของพรรคใหม่ ยังทำให้เกิดการแบ่งคะแนนกันด้วย
“แต่ถ้าถามว่า หาร 500 หรือ หาร 100 เรื่องเสียงข้างมากลากไปก็ยังมีอยู่ เรื่องการแจกกล้วย งูเห่า ส.ส.ฝากเลี้ยงก็ยังมีอยู่ ต้องบอกว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรทางการเมืองเลย มันไม่ได้เป็นระบบเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงประชาชนเลย เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการร่างกติกาตรงนี้” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ไทยเคยมี ระบบ MMP แต่ถูกคว่ำโดย สนช.
ส่วนระบบที่จะสะท้อนเจตจำนงประชาชนได้ดี แล้วทำให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลทางการเมืองด้วยนั้น รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า คือระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP แบบเยอรมนี ที่ประเทศไทยไม่เคยนำมาใช้ โดยไทยเคยเขียนระบบนี้ไว้ แต่ถูกคว่ำ โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นระบบที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน รวมถึงเป็นระบบที่คะแนนเสียงตกน้ำน้อยที่สุด และเกิด overhang น้อยที่สุดเหมือนกันด้วย
ผู้เขียน : Supattra
กราฟิก : Theerapong.c