กมธ.งบฯ ปี 66 ปิดจ๊อบ ปรับลดงบฯ 7.6 พันล้าน ชงเข้าวาระ 2-3 วันที่ 17-19 ส.ค.นี้ แนะ รัฐบาลหามาตรการเพิ่มรายได้ให้รัฐ อาทิ เพิ่มจำนวนคนเข้าสู่ระบบภาษี ฯลฯ 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แถลงว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ท่ีผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย โดยได้มีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นรายมาตรา และพิจารณารับรองบันทึกการประชุม และรายงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยได้มีมติปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 7,644,243,800 บาท โดยหน่วยงานที่ถูกปรับลดมากที่สุด 3 อันดับ คือ

1.กระทรวงกลาโหม ลดลงจำนวน 2,778,134,500 บาท
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดลงจำนวน 742,208,000 บาท
3.กระทรวงศึกษาธิการ ลดลงจำนวน 737,486,100 บาท

แปรงบฯโยกเพิ่มให้ 10 รายการ

“ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอแปรเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยใช้งบประมาณที่มีการปรับลดจำนวน 7,644,243,800 บาท มาแปรเพิ่มงบประมาณจำนวน 10 รายการ ดังนี้

1.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 500,000,000 บาท

2.เงินอุดหนุนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของสถานีอนามัยถ่ายโอน (องค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 แห่ง) จำนวน 1,840,550,000 บาท

3.เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,359,853,000 บาท

4.กรมการข้าว โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 จำนวน 1,256,000,000 บาท

5.กรมการข้าว โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,021,656,000 บาท

...

6.สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 230,000,000 บาท

7.สำนักงานศาลยุติธรรม เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 192,284,300 บาท

8.สำนักงาน ป.ป.ช. เงินอุดหนุนผลผลิตการดำเนินการป้องกันปราบปรามการทุจริต จำนวน 154,123,100 บาท

9.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเงินอุดหนุนแผนงานบุคลากร จำนวน 81,577,400 บาท

10.ค่าใช้จ่ายพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศอ.บต. จำนวน 8,200,000 บาท ขณะที่หน่วยงานที่ไม่มีการปรับลดงบประมาณ คือ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และส่วนราชการในพระองค์” นพ.บัญญัติ กล่าว

นพ.บัญญัติ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้คณะกรรมาธิการฯ จะจัดทำเอกสารเพื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม คาดว่า จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 17-19 ส.ค. 2565 เพื่อให้ทันกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มาถึงสภา

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อสังเกตว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงได้มีข้อเสนอให้รัฐบาล ควรหามาตรการเพิ่มรายได้ให้รัฐ เช่น การเพิ่มจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบภาษีรายได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดก รวมทั้งการพิจารณาภาษีรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีลาภลอย และภาษีกำไรจากเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงรัฐบาลควรหามาตรการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างงบประมาณในระยะยาว ผ่านการลดสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ตายตัว และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในแต่ละปี ให้เหลือเท่าที่จำเป็น และการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากเงินนอกงบประมาณ