ถือเป็นชัยชนะของ "กองทัพอากาศ" หลังออกมาแจงเหตุผลและความจำเป็น โครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบินที่ได้วางแผนทยอยปลดประจำการ ให้สามารถดำรงขีดความสามารถในการปฏิบัติการบินรบในอากาศ และการโจมตีทางอากาศต่อไป เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 40 ปี พร้อมกางแผนไทม์ไลน์ขั้นตอนความคุ้มค่า และระยะเวลากว่าเครื่องจะได้เข้าประจำการเพื่อทดแทนอากาศยานเก่าที่จะต้องลาจาก
จนถึงวันดีเดย์ที่เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อบ่ายของวันที่ 3 ส.ค.65 กมธ.งบฯ 66 ก็ลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 45 ต่อ 22 เสียง และงดออกเสียง 1 ทำให้ "กองทัพอากาศ" ได้รับงบประมาณ 369 ล้านบาท นำไปจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ ระยะที่ 1
จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเดินหน้าสานต่อโครงการจัดซื้อ จัดหา อากาศยานรบ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการรักษาน่านฟ้า และรักษาอธิปไตยไทย เพื่อดำรงศักยภาพเหนือขอบฟ้าของกองทัพอากาศไทย
หลังทราบผล กมธ.ส่วนใหญ่เทคะแนนให้ "บิ๊กป้อง" พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ได้ออกมากล่าวขอบคุณ กมธ.งบประมาณ ที่โหวตให้ "กองทัพอากาศ" ผ่านโครงการจัดซื้อ F-35 A และเห็นด้วยกับความสำคัญของกองทัพอากาศ ในภารกิจป้องกันประเทศ โดยขอยืนยันว่า "งบประมาณ" ที่ได้รับจะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำอย่างเต็มความสามารถ ให้มีความโปร่งใส คุ้มค่าเงินงบประมาณ
...
พร้อมย้ำ "ทัพฟ้า" มุ่งหวังเห็นสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ 1.กองทัพซื้อของดีมีประสิทธิภาพใช้งานได้นาน คุ้มค่า คุ้มราคากับภาษีของประชาชน 2.การซื้อต้องไม่มีการคอร์รัปชัน หมายถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้นำเหล่าทัพไม่มีผลประโยชน์ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องใช้อย่างคุ้มค่ากับโครงการเท่านั้น และ 3.การจัดซื้อจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างเต็มที่ทั้งทางตรง ก่อให้เกิดความมั่นคงของชาติ และทางอ้อมคือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน พัฒนาองค์ ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ
"เครื่องบิน F-35 A ถือเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลก สามารถใช้กับอาวุธได้หลายอย่าง รวมถึงอาวุธที่กองทัพอากาศมีใช้ในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้ออาวุธเพิ่มเติม อีกทั้งการซื้อเครื่องบินก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณ และในอนาคตหากมีอาวุธใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพก็สามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ โดย F-35 A ถูกออกแบบมาให้รองรับกับอาวุธใหม่ๆ และการจัดซื้อโดยแบบวิธีความช่วยเหลือทางการทหาร ( FMS) ซึ่งเป็นการจัดซื้อเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล จึงมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นับว่าเป็นกระบวนการจัดซื้อที่เป็นแบบอย่างที่ประชาชนต้องการ"
พล.อ.นภาเดช ชี้ให้เห็นว่า ทอ.เข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่กองทัพอากาศใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อ ไม่ได้ขอเพิ่ม จากที่รัฐบาลได้ตั้งกรอบเอาไว้ให้ โดยจัดซื้อเพียง 2 เครื่อง และจะทยอยซื้อในระยะที่ 2 และ 3 เพิ่มเติม ใช้เวลา 10 ปี ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ในปี 2575 กองทัพอากาศจะมีเครื่องบิน F-35 A ประจำการจำนวน 12 เครื่อง และพร้อมที่จะปฏิบัติการรบในปี 2576 ภายหลังเตรียมการในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว
เพราะปัจจุบัน "กองทัพอากาศ" มีเครื่องบินขับไล่โจมตี จำนวน 5 ฝูงบิน ซึ่งได้ปรับปรุงขีดความสามารถของอากาศยานที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถดำรงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเอาไว้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านอายุมีผลต่อขีดความสามารถที่ลดลง ข้อจำกัดการส่งกำลัง และซ่อมบำรุงที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งมีระยะเวลาในการจัดหาพัสดุอะไหล่ที่ยาวนาน ส่งผลให้ "กองทัพอากาศ" มีความจำเป็นที่จะต้องทยอยปลดประจำการ เครื่องบินขับไล่โจมตีจาก 5 ฝูงบิน จนเหลือ 2 ฝูงบิน ในปี 2575
จึงต้องวางแผนดำเนินการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี จำนวน 1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบิน ที่ได้วางแผนทยอยปลดประจำการ ให้สามารถดำรงขีดความสามารถปฏิบัติการบินรบ และจัดเตรียมกําลังรบทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน เพื่อเป็นการป้องปราม และเตรียมพร้อมรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ในยุคที่ 5
"ขอย้ำว่า F-35 A เป็นเครื่องบินล้ำสมัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่เราไม่เคยมีมาก่อน จะเกิดการศึกษาเรียนรู้ การถ่ายโอนเทคโนโลยีเพิ่มเติม ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนและงาน รวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย เมื่อ กมธ.งบฯ 66 เล็งเห็นถึงความสำคัญ และสนับสนุนโครงการสำคัญ จึงขอให้มีความเชื่อใจ ในความซื่อสัตย์ ซื่อตรง และให้มั่นใจว่า กองทัพอากาศ จะทำตามภาระหน้าที่อย่างดีที่สุด"
ทั้งนี้ ทอ. ได้พิจารณาจัดซื้อมีความรอบคอบ เป็นการจัดซื้อเพื่อทดแทนเครื่องบินที่กองทัพอากาศกำลังจะปลดประจำการไป เพราะเครื่องเก่ามีค่าซ่อมบำรุงสูง หากเราตัดงบประมาณส่วนซ่อมบำรุง ก็สามารถนำมาใช้จ่ายในเครื่องบิน F-35 A ที่เป็นงบประมาณที่ต่ำกว่า ก็เหลือเงินไปสนับสนุนโครงการอื่น จึงขอให้มั่นใจ เพราะโครงการนี้มีประโยชน์ ไม่มีสิ่งที่เป็นโทษ และไม่ได้ซื้อของไม่ดี และสหรัฐฯ ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี และพร้อมที่จะสนับสนุน ทอ.
สำหรับการทำแผนจัดซื้อ 12 เครื่อง "กองทัพอากาศ" ได้แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 2 - 4 - 6 เครื่อง โดยผูกพันตามแผน 12 ปี กําหนดความต้องการระยะ 10 ปี (พ.ศ.2563– 2573) ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน โดยคณะกรรมการศึกษาและจัดทําความต้องการ เครื่องบินขับไล่โจมตีให้มีความเหมาะสมกับงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ และคํานึงถึงขีดความสามารถ ในการปฏิบัติภารกิจให้ได้ในปี 2575
- ระยะที่ 1 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (66 - 69) จํานวน 2 เครื่อง วงเงิน 7,382 ล้านบาท
- ระยะที่ 2 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (69- 71 ) จํานวน 4 เครื่อง วงเงิน 14,628 ล้านบาท
- ระยะที่ 3 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (72- 75 ) จํานวน 6 เครื่อง วงเงิน 21,924 ล้านบาท
รวมเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 43,935 ล้านบาท
แต่ท้ายที่สุด สภาคองเกรส สหรัฐฯ จะอนุมัติขาย F-35 A ให้ ทอ.ไทย หรือไม่ก็ตาม ก็พร้อมที่จะคืนงบประมาณถ้าหากไม่ผ่าน
เพราะแต่ตั้งแต่ ครม. อนุมัติหลักการ โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น กรอบงบประมาณ 1.38 หมื่นล้านบาท เมื่อ 11 ม.ค.65 จนมาถึงวันนี้ 3 สค.65 กมธ.งบฯ 2566 ที่มีมติอนุมัติ งบฯ 369.1345 ล้านบาท โดยผูกพันงวดแรกของโครงการจัดซื้อ F-35 A จำนวน 2 เครื่อง จึงเป็นก้าวแรก ของการเดินไปสู่ฝันที่เป็นจริงของกองทัพอากาศ ในการจัดหาเครื่องบินที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก
จากนี้ถือเป็นจะเป็นจุดเปลี่ยนของ "กองทัพอากาศ" ที่จะก้าวเข้าสู่ความทันสมัย มีเครื่องบินที่มีคุณภาพ ถือเป็นพลังอำนาจในการรบที่ไม่มีตัวตน ให้กองทัพมีศักยภาพเหนือขอบฟ้า เพื่อดูแลอธิปไตย ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ได้อย่างแข็งแรง สง่างาม
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam