"พิชัย" รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ อัด “บิ๊กตู่” คือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจแท้จริง ติง ผู้นำขาดความรู้รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน แนะ เร่งเปลี่ยนก่อนไทยทรุดหนัก

วันที่ 2 ส.ค. 65 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ห่างกับอัตราดอกเบี้ยของไทยค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นผลกระทบกดดันกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก นอกจากนี้ผลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และความพยายามที่จะคุมเงินเฟ้อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสสองติดลบ 0.9% ซึ่งเป็นการติดลบเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันหลังจากไตรมาสแรกติดลบแล้ว -1.6% โดยทางเทคนิคแล้วเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแลัว แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังเข้มแข็งอยู่และต้องจับตาดูว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯจะลดลงไหม ถ้ายังไม่ลดก็มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะช้าจะเร็วโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นไปได้มาก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ก็ย่ำแย่ขยายตัวได้เพียง 0.4% เท่านั้น และเศรษฐกิจอียูก็ยังแย่จากสงครามรัสเซียยูเครน ดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และอียู ที่ย่ำแย่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และจะส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยในเดือนสิงหาคมนี้ค่าก๊าซหุงต้มได้ขึ้นเป็น 393 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งหนักมาก ค่าการตลาดน้ำมันก็ได้ปรับลดลงตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้ทักท้วงและจะขึ้นค่าไฟฟ้าถึงหน่วยละ 4.72 บาทในงวดเดือนกันยายน ซึ่งก็ยังสูงมาก และหากคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยไม่ทักท้วงไว้ น่าจะขึ้นทะลุไปหน่วยละ 5 บาท หรือ 6 บาทกว่าแล้ว แต่ถึงแม้จะขึ้นน้อยลงในตอนนี้ แต่กำลังรอเวลาจะขึ้นราคาอีกครั้งในไม่ช้า ซึ่งจะสร้างภาระให้ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมาก พิสูจน์แล้วว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ถูกด่าไม่ยอมแก้ไข นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะกดดันให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ ซึ่งจะเพิ่มภาระให้กับประชาชนอย่างมาก ทั้งค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และหนี้สินต่างๆ รวมถึงหนี้ธุรกิจที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาอย่างรอบคอบในระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวต่อได้ และเงินทุนไม่ไหลออก เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินทุนสำรองลดลง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ลดลงต่ำกว่า 220,000 ล้านเหรียญครั้งแรกในรอบ 3 ปี ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลง และถึงแม้ไทยจะส่งออกได้มาก 6 เดือนแรกขยายตัวได้ 12.7% แต่นำเข้าขยายตัวมากกว่า ทำให้ไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก 6 เดือนที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้าแล้วกว่า 6.25 พันล้านเหรียญ ซึ่งหากการท่องเที่ยวไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ประเทศไทยจะเกิดการขาดดุลแฝด (Twin Defiicits) คือ ขาดดุลทางการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และไทยเองจะต้องระวังอย่างมาก ข้อมูลของผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและคำอธิบายหลายเรื่อง ของผู้ว่าการ ธปท. ก็ยังคลุมเครือ

...

ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอย และปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูง ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเหล่านี้จะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเท่าเดิม ปัญหาประเทศหนี้ล้นประชาชนหนี้ท่วม ปัญหาความสามารถถแข่งขันที่ลดลงอย่างมาก ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พัฒนา ปัญหาอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาด และขาดความรู้ความสามารถของพลเอกประยุทธ์ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยพลเอกประยุทธ์เพิ่งจะมารู้ตัวถึงได้ออกยุทธศาสตร์ 3 แกน แต่สถานการณ์น่าจะเลวร้ายเกินเยียวยาแล้ว ความเชื่อมั่นของผู้นำไม่เหลือแล้ว สังเกตได้ว่ารัฐมนตรีที่ร่วมบริหารกับพลเอกประยุทธ์พอออกไปแล้วก็จะตำหนิความด้อยความสามารถของพลเอกประยุทธ์กันทุกคน ตั้งแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายสมหมาย ภาษี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พวก เป็นต้น ซึ่งเชื่อได้ว่าเมื่อนายอาคม และ นายสุพัฒนพงษ์ ออกไปก็อาจจะตำหนิพลเอกประยุทธ์เช่นกัน ในความล้มเหลว เพราะคงไม่มีใครอยากยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดของตัวเอง

แม้กระทั่งปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ยังคิดได้เพียงโครงการคนละครึ่ง แถมให้เพียง 800 บาท โดยบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายอาคมเพิ่งจะบอกว่ารัฐบาลต้องเลิกแจกเงินและหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้แล้ว แต่พลเอกประยุทธ์คงไม่เข้าใจ คิดเป็นแต่แจกเงินอย่างเดียวเท่านั้น

"จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในหลายด้าน โดยที่ผู้นำไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ดังนั้นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของไทยที่หนักที่สุดคือตัวพลเอกประยุทธ์เอง เพราะเป็นสาเหตุหลักของประเทศที่เสื่อมถอย อีกทั้งยังจะพยายามที่จะรักษาอำนาจในทุกวิถีทาง และพยายามแก้กติกากลับไปกลับมากลัวแพ้ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าไม่ว่าจะเลือกกติกาไหน ประชาชนก็จะไม่เลือกผู้นำที่บริหารล้มเหลวอีกต่อไปแล้ว และน่าจะต้องสำนึกตัวเองได้แล้ว อีกทั้งครบ 8 ปี แล้วตามกำหนดรัฐธรรมนูญอย่าพยายามดันทุรังอีกเลย และนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องแล้ว" นายพิชัย กล่าว.