พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับ 6 ข้อ ปราบค้ามนุษย์ต่อเนื่อง หลังไทยยกระดับดีขึ้นเทียร์ 2 กวดขัน ปราบปรามค้ามนุษย์ หลอกลวงประชาชน ผ่านทางช่องทางออนไลน์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ

วันที่ 24 ก.ค. 2565 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่าการจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยหลังสหรัฐฯ ยกระดับประเทศไทยดีขึ้นจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี2565 เกิดจากการทำงานของ “ทีมประเทศไทย” ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง ของประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป

สำหรับแนวทางปฏิบัติสำคัญๆ ที่ชัดเจนแล้วในปี 2565 จนถึงห้วงเวลาประเมิน ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อรักษาสถานะการประเมินในระดับ เทียร์ 2 และเพื่อให้ได้รับการประเมินในระดับที่สูงขึ้นต่อไป มีดังนี้

(1) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ไปสู่การปฏิบัติในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจคัดกรองแรงงานบังคับ (SOP) กลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (NRM) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (RP)

...

(2) พัฒนา กำกับและติดตามกลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) และนำไปสู่การปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก ส่งต่อ ช่วยเหลือผู้เสียหายและบุคคลที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยก

(3) จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ เพื่อเป็นสถานที่เตรียมความพร้อมก่อนการคัดแยกผู้เสียหาย คัดกรองและคัดแยก ผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Presumed trafficking victims)

(4) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Counter Trafficking in Persons Center of Excellence) โดยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีกำหนดลงนาม MOU ในการประชุมเอเปค ปี 65

(5) ขยายผลมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ภายใต้โครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ

(6) ร่วมกับโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (USAID Thailand CTIP) และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล (Winrock International) เพื่อพัฒนาระบบและแนวทางป้องกันช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การสนับสนุนจาก พลเอกประวิตร ในฐานะประธานกรรมการ ปคม. และ รัฐบาล ในการนำ "ทีมประเทศไทย" ของฝ่ายข้าราชการประจำทุกหน่วยงาน ทำให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและมีรูปแบบสลับซับซ้อนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติโควิด และเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ กล่าวคือในปี 2562-65 มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น มิจฉาชีพมีการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเสนอรายได้ที่สูง หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะถูกนำตัวข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง จากนั้นก็จะถูกบังคับให้ทำงาน หรือไม่ก็บังคับให้ค้าประเวณี ตัวอย่างเช่น การหลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยแก๊งสแกมเมอร์ ซึ่งรัฐบาลสามารถช่วยเหลือคนไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ถึง 855 คน

พลเอกประวิตร ได้สั่งการให้ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯ กวดขัน และให้ความสำคัญกับกรณีดังกล่าวเพราะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงอยากขอฝากและเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณาหางานทางออนไลน์ที่ดูดีเกินจริง เพราะอาจถูกหลอกลวงได้ ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือพบกรณีการหลอกลวงทางช่องทางออนไลน์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสืบสวนคดีต่อไป สามารถโทรสายด่วน 1191 ศูนย์รับแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือโทร. 1441 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี