ก็เป็นไปตามคาด การลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี กับ 10 รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้เสียงไว้วางใจมากกว่าเสียงไม่ไว้วางใจ ส่วนใครจะได้คะแนนมากน้อยกว่ากัน ว่ากันว่าเป็นไปตามอิทธิฤทธิ์ของกล้วย เพราะกล้วยไทยยุคนี้มีราคาแพง เลยไม่แปลกใจ ทำไมมหาเศรษฐีไทยจึงนิยมเอาที่ดินราคาแพงวาละล้านสองล้านบาทย่านธุรกิจใจกลางกรุงไปปลูกกล้วยกันมากมาย
ผลการลงมติครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเอาหน้ารอดไปได้ ได้คะแนนไว้วางใจ 256 เสียง อยู่ในลำดับที่ 4 และ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 206 เสียง อยู่ในลำดับที่ 5 แต่คนที่เสียโฉมหน้าเป็นริ้วไปเลยก็คือ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไว้วางใจต่ำที่สุดเพียง 241 เสียง และ คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ 207 เสียง โดยมี ส.ส.งดออกเสียงมากที่สุดถึง 23 เสียง
งานนี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ตอบไม่ได้เรื่องที่สุด กลับได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากที่สุด 268 เสียง และ คะแนนไม่ไว้วางใจน้อยที่สุด 193 เสียง ตามสติปัญญา ส.ส.ไทย แสดงถึงบารมีที่เหนือชั้นกว่านายกรัฐมนตรี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้อง พึ่งบารมี “บิ๊กป้อม” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” รออยู่ในการเลือกตั้งทั่วไปต้นปีหน้า พล.อ.ประวิตร จะส่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะคู่หูนายกฯ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ได้คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 212 คะแนน และได้คะแนนไว้วางใจเพียง 245 คะแนน สมัยหน้าจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ก็ไม่รู้
การลงมติในสภาผู้แทนฯ ถือเป็นคะแนนจัดตั้ง ลงมติตามมติพรรค จะมีแหกคอกบ้างก็เป็นเรื่องส่วนตัวไม่กี่คน ไม่ได้สะท้อนความน่าเชื่อถือของรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่ การลงมติไม่ไว้วางใจของประชาชน ที่มีการ ลงมติคู่ขนาน ไปกับ สภาผู้แทนฯ ผมเห็นว่า เป็นคะแนนที่น่าเชื่อถือกว่าเยอะ เพราะมาจากมติของประชาชนแต่ละคนโดยตรง ไม่ใช่ตามมติพรรค
...
คุณปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ประสานงาน โครงการเสียงประชาชน ร่วมกับ โทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง ได้แถลง ผลการลงมติไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรีของประชาชน ไล่หลังมติของสภาผู้แทนฯ ว่า มีประชาชนร่วมลงมติ 524,806 ราย เป็นเสียงจาก ประเทศไทย 511,807 ราย สหรัฐอเมริกา 897 ราย สิงคโปร์ 817 ราย ญี่ปุ่น 653 ราย เป็นต้น ผลคะแนนออกมา ดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 96% นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 96% นายสันติ พร้อมพัฒน์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 96% เรียกว่า สอบตกยกชั้น
คุณปริญญา ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ โครงการเสียงประชาชน คือ การสร้างแพลตฟอร์ม หรือ ช่องทางให้ประชาชน ในฐานะ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ สามารถแสดงออกว่าจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 คน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดี อยากให้พัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งทั่วไปด้วย
เมื่อ ประชาธิปไตยบนโลกจริงถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ คนรุ่นใหม่ก็หาทางออกด้วยการไปแสดงพลังบน “โลกดิจิทัล” ซึ่งนับวันจะมีพลังเข้มแข็งขึ้น Digital Democracy จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป ผมชอบใจคำพูดของ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ที่พูดว่า “ประชาชนไม่จำเป็นต้องไว้ใจรัฐบาล รัฐบาลต่างหากที่ต้องไว้ใจประชาชน” เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ฉลาดและคิดได้อย่างนี้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”