หัวหน้านโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เตือน เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต แนะรัฐเตรียมมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมช่วยกลุ่มเปราะบาง และทำความเข้าใจเรื่องค่าเงินบาท
วันที่ 14 ก.ค. 2565 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้านโยบายพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงภาวะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายน 65 ปรับตัวสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ 8.8% จึงกังวลกันว่า 27 ก.ค. ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) อาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นไปอีกซึ่งจะส่งผลสะท้อนมายังอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยปรับตัวอ่อนค่าลงอีก ดังนั้นธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมิถุนายน 65 เท่ากับ 7.66% พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในเดือนสิงหาคมนี้ จึงคาดกันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอนทั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป
อย่างไรก็ตามแม้ระบบการเงินไทยจะมีเสถียรภาพ แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต ภาคครัวเรือนยังเปราะบางมาก จากหนี้ครัวเรือนที่สูงร่วม 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่เปราะบางสุด และในเดือนส.ค.เมื่อกนง. ขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจด้อยลงไปอีก และจะกระทบคุณภาพสินเชื่อรายย่อยแน่นอน
ยกตัวอย่าง ถ้ามีหนี้ 10 ล้านบาทที่ยังค้างจ่ายอีก 20 ปี หรือ 240 เดือน อัตราดอกเบี้ยเดิมจ่ายอยู่เท่ากับ 6% ต่อปี เงินผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนก็จะอยู่ที่ราว 71,643 บาท ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% เงินผ่อนจะเพิ่มเป็น 77,530 บาทต่อเดือน เท่ากับภาระเพิ่มขึ้น 5,887 บาทต่อเดือน
...
ข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ากว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนรายได้น้อยที่เป็นหนี้ มีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ และล่าสุด รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเห็นสัญญาณด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนของ Non-bank คุณภาพสินเชื่อก็เริ่มมีแนวโน้มด้อยลง จากสัดส่วนของหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เพราะเป็นกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอ่อนไหวกับภาระต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น
รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ใช้กลไกที่มีเร่งให้ความรู้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ถึงแนวทางการแก้หนี้ และต้องทำด้วยความเข้าใจขณะเดียวกันเรื่องค่าเงินบาท รัฐบาลควรส่งสัญญาณให้เอกชนทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และร่วมกับ ธปท.ดูแลต้นทุนของการป้องกันความเสี่ยง