นายกฯ ถกสมช.แก้วิกฤติพลังงาน ดูแลกลุ่มเปราะบางต่ออีก 3 เดือน ตั้งคกก.2 ชุดขับเคลื่อนศก. -พลังงาน ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร ยึดกฎหมายเผยสถานการณ์พลังงานไทยยังไม่ขาด วอนประชาชน ประหยัด

วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น 3 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 แบบเต็มคณะ โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วม ใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ต่อมาเวลา 18.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ แถลงผลการประชุมกว่า 20 นาที ว่า การประชุมใช้เวลายาวนานซึ่งเป็นการประชุมด้านปัญหาพลังงาน เพื่อกำหนดแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ เพราะถ้าทุกคนติดตามความก้าวหน้าเหตุการณ์และสถานการณ์โลกปัจจุบันพบมีหลายปัญหา

นายกฯ กล่าวว่า หลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ว่า สมช. มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องของทหาร ทั้งนี้ สมช. ไม่ใช่ดูแลเฉพาะหน่วยงานด้านทหาร ซึ่งสมช. เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงของประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและพลังงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้ นำไปสู่การจัดทำแผนเตรียมพร้อม คือ 1. เรื่องการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ 2. เศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุนต่างประเทศ 3. พลังงาน 4. เรื่องการเงินการธนาคาร 5. ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว

การประชุมได้หารือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมที่ประชุมมีการกำหนดมาตรการและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ จากสาเหตุที่เกิดขึ้นในเวลานี้ผลกระทบที่เกิดจากสงคราม รวมทั้งสงครามการค้ากินระยะเวลายาวนาน จากนี้ไป 3-6 เดือนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิน 6 เดือนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทยน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจากต้นทุนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะทำให้มีปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ เพราะผลกระทบมีมากมายหลายส่วนด้วยกัน

...

“โดยสรุปเรากำหนดว่าการทำงานของเราที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งทำมาโดยลำดับ ตั้งแต่ช่วงเกิดและหลังโควิดที่คลี่คลายมากขึ้น วันนี้อยู่ในระยะ 3 เดือน คือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. เราต้องมาดูว่าในช่วง 3 เดือนนี้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่อีกที่มีผลกระทบในทุกๆ ด้าน เราก็ต้องมาดูว่าเรายังมีงบประมาณอีกเท่าไร และจะหาเงินได้จากที่ไหน หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแถลงและชี้แจงแล้วว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งคงมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ สิ่งไหนทำแล้วจะถูกฟ้องร้อง ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร แต่ยึดกฎหมายคุ้มครองที่มีอยู่ เราพยายามทำให้มากที่สุด สิ่งที่สรุปวันนี้คือการเตรียมมาตรการ 3 เดือน ดังนั้นสิ่งที่เคยให้ไปในขณะนี้เราจะมาดูว่าเราจะพิจารณาให้อะไรเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ และจะดูแลตรงไหนได้อีกบ้างและมีเงินอีกจำนวนเท่าไร จะหาเงินได้จากที่ไหน ถ้าใช้การกู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นการสะสมหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ จะมีผลต่อการเงินในระยะยาว ส่วนในเรื่องการที่จะไปบังคับอะไรต่างๆ นั้นกฎหมายทำไม่ได้ ถ้าทำไปก็จะเสี่ยงถูกฟ้องร้อง ก็ต้องระมัดระวังมากที่สุด” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อสรุปก็คือมาตรการในช่วง 3 เดือน คือ ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. การหารือวันนี้ก็มีมาตรการที่จะต่ออายุเพิ่มเติมให้ และจะหาเงินจากที่ไหนได้บ้าง หลังจากนั้น 3 เดือนต่อไป ต.ค.-ธ.ค. จะทำอะไรได้ต่อหรืออะไรที่ทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำแล้วจะเกิดปัญหาต่อระบบการเงินการคลังก็ต้องไปดูอีก เพราะเป็นเรื่องของหนี้สาธารณะเพราะปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นตามลำดับ ก็ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด และจากนั้นถ้ายังมีการสู้รบอย่างนี้อีกยาวไปจนถึงปีหน้า อีก 3 เดือน ต้องพิจารณาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง หลายอย่างเราทำได้แต่หลายอย่างก็ต้องลดลงและไปดูเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนโดยเรียงลำดับมากไปหาน้อย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปมาทุกประเด็นในเรื่องของปัญหาสถานการณ์ เราสร้างฉากทัศน์ของเรา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี นี่เรียกว่าเป็นการวางแผนระยะยาวเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นกลไกเหมือนกับครม.เศรษฐกิจกลายๆ และทั้งหมดนี้จะนำไปหารือกับภาคเอกชน ซึ่งจริงๆ แล้ววันนี้ข้อมูลจากภาคเอกชนมีเข้ามาแล้ว เขาต้องการอะไร เดือดร้อนตรงไหน ไม่ว่าจะเรื่องเกษตร อุตสาหกรรมต่างๆ เรามีข้อมูลหมดแล้ว และเราจะดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง และนำไปสู่การหารือของครม. เพราะครม.เป็นผู้ปฏิบัติงานในวันนี้ ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องของนโยบาย กรอบการดำเนินการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องเตรียมรับเรื่องพลังงาน จะต้องไม่ขาดแคลน และวันนี้เรายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ขาดแคลน แต่ราคามันสูงถูกหรือไม่ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส อะไรต่างๆ ท่านต้องรู้ว่าวันนี้ราคาน้ำมันจริงมันเท่าไร และดูราคาต่างประเทศด้วย ซึ่งมาจากมาตรฐานตัวเดียวกันในราคาต้นทุนน้ำมัน ในส่วนค่าการกลั่น ค่าอะไรต่างๆ ที่พูดๆ กัน มันมีกฎหมายทุกตัว ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นผู้ชี้แจงอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร ทำไมผมต้องไปเอื้อกับใคร ถ้ามันทำได้จริงตนก็ทำได้ มันก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน

นายกฯ กล่าวว่า อันแรกไฟต้องไม่ดับ พลังงานต้องมีเพียงพอ วันนี้ตนทราบว่าอัตราสำรองเรายังมีใช้ได้ระยะหนึ่ง แม้ไม่มีการนำเข้าอีก จะอยู่ได้กี่วันก็ได้หาข้อมูลไว้ก่อนแล้ว เราต้องเตรียมแผนตรงนี้ถ้ามันขาดแล้วจะทำอย่างไร ถ้านำเข้าไม่ได้อีกนี่คือปัญหา ส่วนเรื่องของอาหารตนคิดว่าประเทศเราไม่น่าจะมีปัญหาการขาดแคลนอาหาร แต่วันหน้าเราต้องเตรียมความพร้อม ในเมื่อเราจะเป็นแหล่งอาหารโลกจะต้องพัฒนาด้านการเกษตรอย่างไร ซึ่งวันนี้มีปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ ต้นทุนปุ๋ย ต้นทุนการผลิตอะไรต่างๆ เราจะสร้างความมั่นคงด้านนี้ได้อย่างไร ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนนำแร่โปรแตสมาทำแม่ปุ๋ย และเรื่องพลังงานตนได้ให้ไปหารือกันจะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมได้หรือไม่ในอ่าวไทยหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพูดคุยเจรจากับต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวแต่เป็นความมั่นคงพลังงานของอาเซียนด้วย จะต้องหารือร่วมกันและหาทางออกให้ได้

เรื่องของเกษตรกรวันนี้ตนเป็นห่วงทุกคนจะดูแลเขาได้อย่างไร ซึ่งวันนี้มีหลายมาตรการดูแลอยู่แล้ว ก็ต้องดูแลว่าจะเพิ่มเติมตรงไหนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญวันนี้ทุกคนต้องเข้าใจไปด้วยกันวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั้งเงินเฟ้อ ปัจจัยจากราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตไปสู่ผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าราคาขึ้นโดยผู้ผลิตซึ่งมีต้นทุนสูง ซึ่งราคาก็โยนมาให้ผู้บริโภครับไป ดังนั้นต้องไปดูว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือเปล่า ราคาเป็นอย่างไร ขึ้นตามสัดส่วนที่ควรจะขึ้นหรือไม่ แต่เรื่องการฟื้นตัวต่างๆ ตนคิดว่าวันนี้ดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกก็ดีขึ้น แต่อาจจะยังกระจุกตัวอยู่ ไม่กระจายไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ที่น่าเป็นห่วงคือผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง รายได้ต่ำ หนี้สินครัวเรือน ตรงนี้ต้องไปแก้กันอีกทาง

สำหรับความเดือดร้อนในกลุ่ม sme ด้านสินเชื่อต่างๆ รัฐบาลก็อยากจะช่วยและอยากจะให้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะโอกาสผิดนัดชำระหนี้หรือหนี้เสียมากพอสมควร แต่ก็จะพยายามดูแลให้มากที่สุด เรื่องการเพิ่มต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรจะต้องเพียงพอ วันนี้ยังโอเคอยู่ แต่ปุ๋ยต้นทุนการเกษตรสูงขึ้นก็ต้องหาทางแก้โดยหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สรุปสิ่งที่หารือกันวันนี้คือการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนจะทำอย่างไร ด้านอาหารต้องดูปัจจัยการผลิต การขนส่งแม้จะใช้ทางรางแต่ก็ไม่เหมือนกับรถที่ไปส่งถึงที่ หากค่าขนส่งสูงขึ้นต้องหาวิธีการจะลดตรงไหนได้ เราต้องรู้ราคาพลังงานต้นทุนจริงๆ เท่าไรในโลกใบนี้ ตอนนี้ 40 กว่า เรารักษาได้ประมาณนี้โดยใช้เงินมหาศาลแสนกว่าล้านบาท ถ้าใช้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะไหวไหม ขอให้เข้าใจตรงนี้กันด้วย ถ้าเรามีงบประมาณเพียงพอตนยินดี แต่ก็ต้องระวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เรียกประชุมสมช.ในวันนี้เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ด้านเขตแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องใช้กลไกนี้ประชุม และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารวิกฤติเศรษฐกิจ คล้ายครม.เศรษฐกิจกลายๆ โดยนายกฯ เป็นประธาน และตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตาม ประมวลผล วิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหาทุกมิติ จัดแผนรองรับในทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคตด้วย วันนี้ได้เอากฎหมายมาพิจารณาทั้งหมดว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวมีอะไรบ้างทำได้หรือทำไม่ได้

อย่างไรก็ตามจากความคิดเห็นในที่ประชุมและข้อเสนอต่างๆ หลายอย่าง ทั้งข้อกังวล ข้อห่วงใยเป็นการหารือกันอย่างรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะไปหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นหารือแล้วทั้งหมดจะต้องเข้าที่ประชุมครม. ส่วนสาเหตุที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพราะจะเอาครม.มาทั้งครม.ไม่ได้

“สิ่งสำคัญวันนี้ขอสักอย่างได้หรือไม่ ขอช่วยประหยัดใช้พลังงานใช้ที่จำเป็นได้หรือไม่ เพื่อให้ค่าต่างๆ ลดลง ค่าไฟฟ้าลด ค่า FT ลด ถ้าใช้เหมือนเดิมก็ลำบากเหมือนกัน แต่ผมก็ขอร้องเท่านั้น บังคับไม่ได้อยู่แล้ว ผมเองก็ใช้รถเท่าที่จำเป็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว