รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ พูดถึงปัจจัย ที่จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจบ้านเราในปีนี้ นอกจาก โควิด แล้วยังมีเรื่องของ เงินเฟ้อ ที่สาเหตุใหญ่ มาจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดน้ำมัน ผันผวนและมีราคาสูงขึ้นทันที พอเงินเฟ้อ ก็กระทบมาถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อเอาไว้ในจุดที่ไม่ให้มากจนเกินไปเพราะถ้าเงินเฟ้อมาก ราคาของก็แพงมาก พอสินค้าราคาแพง คนก็ไม่มีเงินซื้อหรือซื้อน้อยลง คนซื้อน้อย ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมก็หดตัวเป็นลูกโซ่ แกะไม่ออก
ไม่เฉพาะราคาสินค้า การเงินการคลังก็ได้รับผลกระทบ การที่ เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อลดการไหลออกของเงินและการบริโภคที่ร้อนแรง จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวสูงขึ้น 6-7% ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ พอเจอกับ โควิด โอมิครอน และ สงคราม รัสเซีย-ยูเครน การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงอย่างน่าใจหาย
บ้านเราปัญหาหนักที่สุดคือ เรื่องของพลังงาน ข้อแรกจะตรึงราคาไว้ได้นานแค่ไหน (ขึ้นอยู่กับกองทุนพลังงานเชื้อเพลิง) ไม่ว่าจะเป็นแบบปูพรม หรือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ก็มีปัญหาตามมาทั้งนั้น
ข้อต่อมา จะกระทบกับ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยแค่ไหน หรือจะกลับไปติดลบ และ จะ บริหารหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ได้อย่างไร เพราะปัญหา เศรษฐกิจปากท้อง ที่จะตามมา ไม่สามารถจำกัดวงให้อยู่แค่ปัญหาปากท้องอย่างเดียว ยังจะกระทบไปถึงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจบนข้อจำกัดทางการเมือง จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงและการแก้ปัญหาจะไม่ตรงจุด และไม่สามารถที่จะใช้มาตรการเด็ดขาดบังคับกับประชาชนได้
ทีนี้ การบริหารในภาวะเงินเฟ้อ ถ้าเป็นไปตามปกติ คือขึ้นอยู่กับดีมานด์ ซัพพลาย ของกลไกตลาดก็พอจะคำนวณการรับมือและแก้ปัญหาไปได้
...
แต่ในสภาวะที่เกิดอาการช็อก ในพื้นที่จำกัดของภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก กระทบกับต้นทุนของภาคเอกชนแน่นอน ซึ่งอาจจะบริหารต้นทุนแบบกระจาย โดยไม่จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าตามระดับเงินเฟ้อที่อยู่ประมาณ 6-7% แต่จะตรึงราคาเอาไว้ได้นานแค่ไหน เป็นคำตอบสุดท้าย
แค่เรื่อง การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดมาตรการนี้ในวันที่ 20 ก.ค. ก็ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะลดต่อแล้วยอมรับผลกระทบกับรายได้ของรัฐ หรือต้องเร่งหารายได้เข้ารัฐเพื่อชำระหนี้
แน่นอนว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยืดเยื้อยาวนาน ราคาน้ำมัน สินค้า ก็จะแพงไปเรื่อยๆ มีแต่ขึ้นไม่มีลด เราต้องรับภาระตาม พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับพิเศษ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ถึงจะเป็นเงินกู้ที่มีความจำเป็นในการนำมาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เงินกู้ก็คือเงินกู้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลดราวาศอก
ถ้ายังแก้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้เราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th