ผู้ว่าฯ กทม. ถก ททท. ดัน 12 เทศกาล จ่อปรับแบรนดิ้งกรุงเทพฯ ให้เข้มแข็ง ดึงกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เอาซอฟต์ พาวเวอร์ เสน่ห์เรื่องอาหาร ความมีน้ำใจ มาขาย ทวงคืนบัลลังก์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

วันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง ททท. กับ กรุงเทพมหานคร โดยมี ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ กทม. ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร วันนี้จึงได้เชิญทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาหารือแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการดำเนินงาน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเข้าใจตลาดและวิธีปฏิบัติมากกว่า

...

เรื่องแรกดูนโยบาย 216 นโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกัน เช่น การทำอัตลักษณ์ของย่าน 50 อัตลักษณ์ เพื่อหาคุณค่าทางวัฒนธรรม การทำ 12 เทศกาล ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีเทศกาลอยู่แล้วหลายเทศกาล กรุงเทพมหานครได้เสนอ 12 เทศกาล คณะทำงานจะมีการหารือในรายละเอียดใน 1 เดือนอาจมีมากกว่า 1 เทศกาลก็ได้ โดยเป็นเทศกาลที่น่าสนใจ เช่น เทศกาลแข่งเรือยาว เทศกาลดอกไม้ เทศกาลหนังกลางแปลง เทศกาลงานคราฟต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีการจัดงานหลายอย่าง เช่น งานวิ่ง อะเมซิ่งไทยแลนด์ เป็นส่วนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกัน และมีหลายโครงการที่ทำเป็นรูปธรรมได้ เช่น การผลักดันการท่องเที่ยวในคลองย้อนไปในบรรยากาศเวนิสตะวันออก โดยเลือกคลองที่เหมาะสมแล้วพัฒนาไป อาจขยายจากที่รัฐบาลหรือผู้ว่าฯ อัศวิน ได้ทำไว้ เส้นทางคลองแสนแสบหรือฝั่งธนฯ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวและเสริมสร้างอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ

อีกเรื่องที่สำคัญคือ แบรนดิ้งกรุงเทพฯ จะแบรนดิ้ง (Branding สร้างภาพจำหรือภาพลักษณ์) กรุงเทพฯ อย่างไรให้มีมิติที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทั่วโลก ต้องมีสื่อหลายรูปแบบที่เจาะให้ถึงลูกค้าแต่ละเซกเมนต์ (segment) เหมือนการสร้างแบรนด์ของกรุงเทพฯ ให้เข้มแข็ง การดึงลูกค้าต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะที่ลูกค้าต่างประเทศยังอ่อนแอ ช่วงแรกต้องเน้นเรื่องลูกค้าในประเทศด้วยเพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้กลับคืนมา ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด และทำให้เป็นรูปธรรม ทุกเดือนต้องมีความก้าวหน้า มีแผนการปฏิบัติงานออกมา ตลาดในหลายที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันตลาดอินเดียมาแรงต้องคุยกับอินเดียว่ามีคอนเทนต์อย่างไรที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาจากอินเดีย

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครมีแผนพัฒนาตลาดนัดจตุจักรให้เป็นตลาดนัดระดับโลก การขยายการท่องเที่ยวทางคลองคงขยายยาวขึ้นไปคลองมหานาคไปคลองแสนแสบ เพราะถ้าไปถึงคลองแสนแสบได้จะดี เพราะมีนโยบายทำทางเดินริมคลองให้ดี ดูเรื่องคุณภาพน้ำ ซึ่งคลองแสนแสบดีอย่างที่มีการเดินเรืออยู่แล้วการเดินทางคล่องและสะดวกขึ้น สามารถเดินทางไปถึงมีนบุรีได้ และระหว่างทางมีชุมชน วัด มัสยิด ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ส่วนฝั่งธนฯ ดูคลองภาษีเจริญ คลองแถวทุ่งครุ คลองบางมด จะเลือกคลองเหล่านี้มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว

“เอาซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่เรามี เสน่ห์เรื่องอาหาร ความมีน้ำใจ ความอยากมาเที่ยวเมืองไทย ประสานกับการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก โดยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องเร่งดำเนินการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว.