ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถก คณะผู้บริหาร สั่งเร่งทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว ให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ ใช้ระงับเหตุเพลิงไหม้อย่างเป็นระบบและซ้อมปฏิบัติในทุกชุมชน เตรียมพิจารณาค่าอาสาสมัครดับเพลิง

วันที่ 27 มิ.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ชุมชนบ่อนไก่ และสำเพ็ง ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ที่บ่อนไก่ลักษณะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรลามไปจุดอื่นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบ้านเรือนติดกัน ติดไฟง่าย ช่วงแรกน้ำประปามีแรงดันน้อย ทางออกแออัด ยอมรับว่าการบริหารจัดการพื้นที่ยังไม่ดี เมื่ออาสาสมัครชุมชนได้รับแจ้งเหตุแล้วเข้าไปดับเพลิงก่อนแต่ดับไม่ได้จึงแจ้งสถานีดับเพลิง ทำให้เสียเวลาช่วงแรกไปกว่า 5 นาที บทเรียนมี 2 ส่วน คือ ฝ่ายชุมชน และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งฝ่ายชุมชน คือ ประชาชนไม่ได้แจ้งเหตุมายังสถานีดับเพลิงโดยตรงแต่แจ้งไปที่อาสาสมัครชุมชนก่อน รวมถึงไม่นำถังแดงไปใช้ในการดับเพลิง หากสามารถฝึกชุมชนให้ดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งน่าจะดีขึ้น รวมถึงสายไฟฟ้าในชุมชนชำรุดขาดการบำรุงรักษาทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร อีกทั้ง ชุมชนยังเกิดความสับสน เมื่อเกิดเหตุไม่ทราบจะอพยพไปที่ไหน ดังนั้นการฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ แล้วชุมชนมีประปาหัวแดงเพียงพอ มีหลายจุด แต่แรงดันน้ำอาจจะมีไม่เพียงพอ

ส่วนด้านผู้ปฏิบัติงาน ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ที่ลงพื้นที่ในชุมชนไม่มีความคุ้นเคยในชุมชน ต้องมีการสรุปแนวทางการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น มีกรอบการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และผู้อำนวยการเขต โดย ผอ.สปภ. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องประสานงานกับอาสาสมัครให้ดี ผู้อำนวยการเขต ต้องมาดูแลผู้ได้รับความเสียหาย การทำบัญชีผู้เสียหาย การจัดบริการเบื้องต้น เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ติดตั้งปั๊มน้ำให้น้ำพอใช้ เตียงกระดาษ อนาคตหากมีการจัดตั้งคลังอุปกรณ์ฉุกเฉินก็จะช่วยผู้ประสบเหตุได้เร็วขึ้นไม่ต้องรอการรับบริจาค นอกจากนี้ ต้องมีการแยกผู้ประสบภัยให้ชัดเจนเพื่อให้การช่วยเหลือได้ถูกต้อง ซึ่งจะมีการทำแผนเผชิญเหตุให้เป็นรูปธรรมซ้อมปฏิบัติในทุกชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

...

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ได้มอบหมายให้มีการสำรวจข้อมูลทั้งหมดในส่วนของพื้นที่หนาแน่นลักษณะเดียวกับชุมชนบ่อนไก่ โดยระบุจุดเสี่ยง และสรุปผล จากเหตุเพลิงไหม้แต่ละจุดว่าเกิดซ้ำที่ใดบ้าง หน้างานจะต้องมีจัดการระบบที่ให้อาสาสมัครหรือหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือสามารถทำงานร่วมกันได้ การบริหารจัดการศูนย์พักพิงต้องมีการประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อให้มีความเป็นมืออาชีพและเป็นระบบมากกว่านี้

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ส่วนที่สำเพ็ง สาเหตุต้นเพลิงน่าจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.หม้อแปลงที่มีควัน 2.สายสื่อสารติดไฟ และ 3.ตัวอาคารมีเชื้อเพลิงเยอะ เช่น พลาสติกจึงทำไฟลุกลามเร็วขึ้น เบื้องต้นได้ประสาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำรวจหม้อแปลงทั้งหมดโดยเฉพาะจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีอยู่ 400 กว่าลูก และหากประชาชนมีข้อกังวลให้แจ้งเข้ามาที่มา กทม. หรือระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ส่วนสายสื่อสารต้องเร่งเอาลงดิน ซึ่งได้นัดหารือกับ กสทช. เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น และประชาชนเจ้าของอาคารที่มีวัสดุเชื้อเพลิงจำนวนมาก ต้องระวังเรื่องอัคคีภัยให้มากขึ้น บางทีรัฐเข้าไปตรวจสอบลำบากประชาชนต้องช่วยตรวจสอบดูแลในส่วนของตัวเองด้วย ส่วนการเข้าเผชิญเหตุ มีอาสาสมัครจำนวนมากช่วยกันฉีดน้ำเข้าไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งตามหลักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควรไปฉีดน้ำที่ต้นเพลิงมากกว่า ดังนั้นการประสานงานระหว่างหน่วยอาสากับผู้บัญชาการเหตุเพื่อให้ปฏิบัติงานได้ประสิทธิภาพเต็มที่ จะต้องมีการอบรมให้ทุกทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วย จึงให้ทาง ผอ.สปภ. เร่งทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว สำหรับความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าเผชิญเหตุ

ที่สำคัญอีกเรื่องคือต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของเด็กที่มาเป็นอาสาสมัครดับเพลิงด้วย ส่วนเรื่องค่าตอบแทนสำหรับอาสาสมัครจะต้องมีการพิจารณาเหมือนกัน ถ้ามีค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง และค่าเสี่ยงภัยที่เหมาะสม มีการจัดสรรอุปกรณ์ที่เหมาะสมในงานด้านบรรเทาสาธารณภัยให้อาสาสมัครด้วยก็จะทำให้เป็นทีมเดียวกันมากขึ้น รวมถึงการทบทวนเบี้ยเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย ซึ่งมีการร่างแผนไว้แล้ว รวมถึงพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม.