“ชัยวุฒิ” รมว.ดิจิทัลฯ ย้ำ ประชาชนโพสต์เรื่องส่วนตัว-กิจกรรมในครอบครัว ไม่ผิดกฎหมาย PDPA ชี้ เจตนาเพื่อคุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ที่ถูกนำข้อมูลไปใช้สามารถตรวจสอบหรือขอยกเลิกได้

 
วันนี้ (20 มิ.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานเสวนาจิบน้ำชา “ไขข้อข้องใจ PDPA สมาคมนักข่าว” ว่า ปัจจุบันคนไทยใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยวันละกว่า 8 ชั่วโมง และทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ เช่น การซื้อของออนไลน์ สั่งเดลิเวอรี ที่ต้องมีการแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลการติดต่อ ทำให้มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ไปจัดเก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบสื่อสารจำนวนมาก โดยที่ตัวเจ้าของข้อมูลอาจไม่รู้ตัว
 
ทั้งนี้ บริบทข้างต้นสะท้อนให้เห็นโอกาสของการพลั้งเผลอที่อาจจะปล่อยข้อมูลส่วนตัวเข้าสู่ระบบเครือข่ายเทคโนโลยี จนกลายเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในการออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ กฎหมาย PDPA มาบังคับใช้ หลักการสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล
 
นายชัยวุฒิ ระบุต่อไปว่า อยากให้สื่อมวลชน ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ในเรื่องการยกเว้น โดยใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ได้กำหนดข้อยกเว้นในมาตรา 4 ซึ่งมีข้อยกเว้นที่กฎหมายฉบับนี้ไม่บังคับใช้ ได้แก่

1. ข้อมูลที่โพสต์หรือแชร์ เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องการค้า หรือการไปหาประโยชน์ใดๆ

2. การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การเสนอข่าว การทำหน้าที่ตามมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพ ซึ่งจะไม่ผิดตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ต้องระวังว่าอาจไปละเมิดกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ กฎหมายหมิ่นประมาท เป็นต้น

...

3. งานด้านความมั่นคง เพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน เพื่อรักษาความสงบสุขของประชาชน โดยจะมีข้อมูลของประชาชนจำนวนมาก จากการที่ต้องติดตามสืบสวนคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับภัยความมั่นคง
 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของข้อมูลจากการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนกับบริษัทร้านค้าต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่ให้ไว้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งองค์กรทั้งรัฐและเอกชนต่างๆ ต้องมีการปรับตัวในการลงทุนทำระบบป้องกัน โดยมองว่าระบบแรกที่ต้องดำเนินการ คือการบริหารจัดการภายในเกี่ยวกับบุคลากร มีการให้ความรู้ และมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ในการไม่ปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหล
 
ส่วนกรณีที่ประชาชนพบข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลหรือถูกละเมิด สามารถร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และหน่วยงานนั้นๆ ที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหล พร้อมย้ำเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้แล้วเกิดประโยชน์ คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้จริง นี่คือเป้าหมายสูงสุด  และต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มากเกินไป
 
“เจตนาของข้อกฎหมายก็เพื่อคุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ให้เกิดความโปร่งใส ผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ก็สามารถตรวจสอบได้ ขอยกเลิกได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของโลกดิจิทัลให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐเองก็จะได้ปรับตัวเข้าสู่การจัดระเบียบข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับมาตรฐานการเชื่อมต่อด้านข้อมูลให้นานาประเทศยอมรับมากขึ้น ดังเช่นการหารือของผมกับผู้นำสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันว่าการเริ่มบังคับใช้ PDPA ของเราเป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่มาตรฐานอีกระดับของโลกยุคดิจิทัลต่อไป”