"รองนายกฯ อนุทิน" ตอบชัด แจ้งปลูกในครัวเรือนฟรี แต่ห้ามเกินพื้นที่ใช้ในบ้านได้ อย่าสูบในที่สาธารณะ ผสมอาหารจำหน่ายไม่ผิด แต่ขายสารสกัด ติดแบรนด์ ต้องขอ อย.

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความชัดเจนในการปลูกและใช้กัญชา ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป ซึ่งครบกำหนด ให้บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด (ยส.5) ว่า

อย่างแรก ประชาชนสามารถจดแจ้งกับหน่วยที่กำหนด เพื่อปลูกในครัวเรือนได้ เรื่องหกต้น มันจบแล้ว จะปลูกกี่ต้นก็ได้ แต่ถ้าปลูกในเชิงพาณิชย์ ปลูกเป็นอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตกับ อย. การปลูกในครัวเรือน ต้องขอมาให้สอดคล้องกับพื้นที่บ้าน

ล่าสุดทางสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง วาระแรกแล้ว ที่เราเพิ่งมาพิจารณา เพราะตอนแรก เราจะพิจารณาทันทีให้อยู่ในช่วงรอ ยส.5 บังคับใช้ มีเวลา 120 วัน แต่ช่วงนั้น มีปัญหาเรื่องโควิด-19 ระบาด ต้องเลื่อนออกไป กระทั่งเอาเข้าสภาล่าสุดได้ทัน ต้องขอบคุณพี่น้อง ส.ส.ที่ผลักดันจนเราได้เริ่มอภิปราย และผ่านกฎหมายวาระแรก ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ระหว่างนี้เราใช้ประกาศกระทรวง สธ.ควบคุมการใช้ไปก่อนได้

ในความเป็นจริง เราคลายล็อกเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์มาพักหนึ่งแล้ว สิ่งที่เราจะได้รับเพิ่มขึ้นในวันที่ 9 คือ การใช้ประโยชน์จากช่อดอก จากที่ช่อดอกก็เป็นวัตถุดิบที่ห้ามใช้ แต่วันที่ 9 เราใช้ได้เลย ที่ต้องควบคุมจึงเหลือเพียงสารสกัดที่มีค่า THC สูงกว่า 0.2% ของน้ำหนัก เราไม่เคยต้องการให้ประชาชนใช้เพื่อความบันเทิง สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในวิถีเราเลย

"การใช้ที่ถูกต้อง ถ้าปลูกในบ้าน คุณเด็ดใบไปต้ม ไปใส่ก๋วยเตี๋ยว ชุบแป้งทอดได้เลย เอาดอกมาสกัดได้ แต่อย่าให้ค่า THC สูงเกิน แล้วเอาสารสกัดนั้นไปปรุงรสได้ เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวได้ แต่ห้ามเอาสารสกัด มาใส่ยี่ห้อแล้วขาย ถ้าจะทำแบบนั้น ต้องขอ อย. มวนสูบในบ้าน ก็ทำได้ แต่ถ้าไปสูบข้างนอก ผิดกฎหมาย รบกวนผู้อื่น มีกฎหมายควบคุมอยู่ ทั้งเรื่องกลิ่น และการสร้างความรำคาญ"

...

นายอนุทิน อธิบายว่า การควบคุมระหว่างรอ พ.ร.บ.ให้ใช้ประกาศ สธ.ไปก่อน และที่ผ่านมา เราได้พยายามอธิบายแนวทางการใช้ประโยชน์ แนวทางการใช้ให้ถูกต้องมาตลอด 3 ปี คิดว่า การควบคุม ก็ไม่ต่างจากการควบคุมเหล้าบุหรี่ มันมีกลไกของสถาบันครอบครัวคอยดูแล ทำไมเราควบคุมเยาวชน ไม่ให้ดื่มเหล้าได้ ทำไมเราควบคุมเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ได้ กัญชา ก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราเห็นว่ากัญชา คือ โอกาสของผู้ป่วย และโอกาสของประชาชน ในการแก้ปัญหาปากท้อง แต่ขอให้เราใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งเรามีกฎหมายควบคุมอยู่