กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เห็นพ้องแก้ไขเพิ่มเติม ม.23/1 ทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ ควรมีสิทธิได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 09.30 นาฬิกา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธานคณะกรรมาธิการ

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แถลงข่าวว่า กรณี การพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาอยู่ ขณะนี้ได้ทำการพิจารณาเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยจะนำเข้าสู่การพิจารณา ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ต่อไป

โดย กมธ.วิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของ เทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานมากขึ้น จึงสมควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ นายจ้างและลูกจ้างมีข้อตกลงที่สามารถตอบสนองการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทำให้ลูกจ้างสามารถนำงานในทางการที่จ้างหรือตกลงไว้กับนายจ้างไปปฏิบัติงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง

น.ส.อรุณี กล่าวต่ออีกว่า ข้อตกลงที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ช่วงเวลาที่เริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง หลักเกณฑ์ในการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด ฯลฯ ลูกจ้างที่ทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัยผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้าง
"การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อตอบสนองการทำงานที่หลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ การคุ้มครองแรงงานจึงต้องครอบคลุม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนคนใช้แรงงานอย่างสูงสุด" น.ส.อรุณี กล่าว

...