ครม.เห็นชอบให้ บขส.มีภารกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เพิ่มจากการขนส่งผู้โดยสารอย่างชัดเจน เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และชดเชยรายได้จากธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางที่ลดลงได้
วันที่ 7 มิถุนายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2502 เรื่อง การเดินรถขนส่งต่างจังหวัด จากเดิมให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รับภาระเดินเฉพาะรถโดยสาร เป็นให้ บขส.มีภารกิจด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้ บขส.สามารถดำเนินกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาและขยายธุรกิจให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสามารถนำรายได้จากการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มาชดเชยรายได้จากธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางที่ลดลงได้
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสภาพปัญหาในการดำเนินธุรกิจเดินรถประจำทาง ความต้องการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ซึ่งรับภาระเดินเฉพาะรถขนส่งสินค้าจากบ้านถึงบ้าน (Door to Door) ได้ยุบเลิกไปแล้วในปี 2549 และยังไม่มีการมอบหมายให้หน่วยงานใดของรัฐดำเนินภารกิจดังกล่าวแทน ดังนั้น บขส.จึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เป็นธุรกิจเสริม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2551 โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นหลัก ได้แก่ รถประจำทาง ศูนย์และสาขาในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ บุคลากร และสถานีเดินรถซึ่งสามารถใช้เป็นจุดในการกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทั่วไป หรือลักษณะเฉพาะ เช่น สินค้าทางการเกษตร โดยที่ผ่านมา บขส.มีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องขอทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว เพื่อให้ภารกิจการดำเนินงานมีความชัดเจน และสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจเพื่อประโยชน์ขององค์กร
...
สำหรับ บขส.ได้กำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบ Door to Door ในระยะต่อไปดังนี้คือ ทำความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ประกอบการเอกชนในการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เพื่อขยายจุดกระจายสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และขยายฐานลูกค้า การกำหนดเส้นทางการบริการร่วมกันและพิจารณาขยายเส้นทางในปีต่อๆ ไป โดยในระยะแรกจะเป็นการขนส่งภายในประเทศ และจะมีการขยายไปสู่เส้นทางระหว่างประเทศต่อไป รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการติดตามสินค้าและพัสดุภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังจะคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยในพื้นที่เพื่อร่วมบริการขนส่งแบบ Hub to Door ภายใต้หลักเกณฑ์ เดียวกับการคัดเลือกรถร่วมบริการของ ร.ส.พ.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 149.32 ล้านบาท กำไรเฉลี่ย 63.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.31 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.36 ของรายได้ทั้งหมด และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย คิดเป็นร้อยละ 5 ของตลาดธุรกิจดังกล่าว และช่วงที่ผ่าน มา บขส.ดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางเป็นธุรกิจหลัก โดยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของบริการทดแทน เช่น สายการบินต้นทุนต่ำ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การแข่งขันจากผู้ให้บริการภาคเอกชนรายอื่น สภาพเศรษฐกิจและสังคม และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบัน บขส.มีปริมาณผู้โดยสารคงเหลือเพียงร้อยละ 10 ทำให้รายได้จากการให้บริการไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้เฉลี่ยจากการเดินรถโดยสารประจำทางปีละ 1,636 ล้านบาท แต่ยังคงมีพนักงานมากถึง 2,850 คน