ยอมรับผลที่เกิดขึ้น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับผิดชอบนโยบายสำหรับการเลือกตั้ง ย้ำคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้า พปชร. อีกครั้งต่อผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียน ปรับปรุงพรรค

หัวหน้าให้เราพูดความจริงก่อนนำไปสู่การวิเคราะห์ หาทางออก แก้ไข ปรับยุทธศาสตร์ โดยท่านบอกต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และผู้เกี่ยวข้อง ฝากให้เราช่วยทำข้อมูลสรุปผลการเลือกตั้ง ส.ก.50 เขต

ซึ่งได้มาเพียงเขตดินแดงและเขตหนองจอก ชนะด้วยปัจจัยอะไร เขตที่มีโอกาสชนะ แต่ไม่เป็นไปตามเป้าด้วยเหตุผลอะไร ทั้งหมดเอาข้อมูลจริงมาดู

จากวันนั้นนำไปสู่หลายเหตุผล อาทิ นโยบายที่เคยหาเสียง เราถูกทวงถามเรื่องทำตามนโยบาย ซึ่งต้องยอมรับความจริงแบบแฟร์ๆ

ทำไมถึงทำไม่ได้ ติดตรงไหน ก็บอกให้ประชาชนเข้าใจ

...

นับเป็นเมสเสจสำคัญที่ พปชร.ต้องพูดกับประชาชน เช่น เกิดจากตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค นโยบายที่ไม่ได้ทำ โดยเฉพาะที่ถูกทวงถามเยอะ คือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายมารดาประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีพรรคอื่นรับผิดชอบ พรรคนั้นก็ต้องทำตามที่หาเสียงเอาไว้ ท้ายสุดก็ทำในนามรัฐบาล

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่ได้ทำตามหาเสียงเอาไว้ อย่างที่ดิน ส.ป.ก.ก็ทำสำเร็จ แก้หนี้นอกระบบ บัตรสวัสดิการประชารัฐ อนาคตคนไทยทุกคนต้องได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน

กระทรวงการคลัง มี รมว.คลัง และ รมช.คลังจาก พปชร. ก็ขับเคลื่อนประเดิมดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน โครงการนี้เดินหน้าต่อแน่นอน

วันนี้ไม่โทษฝ่ายค้านและประชาชนที่มาทวงถาม เราก็บอกให้เขาเข้าใจ ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าเสียงของ พปชร.เยอะมากพอ รับรองขับเคลื่อนตามนโยบายที่หาเสียงได้แน่

ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายเดิมที่ดีอยู่แล้วก็เดินต่อ และนโยบายใหม่ที่ตอบโจทย์ประชาชนและประเทศ ซึ่งเกิดจากที่เรารับฟังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดหมวดหมู่ จัดลำดับความสำคัญ ก่อนผ่านกลไก พปชร.ทำให้นโยบายต่างๆตอบสนองในสิ่งที่ประชาชนต้องการ

ก้อนแรกเป็นนโยบายที่ทำได้เลยนับจากวันนี้จนว่าจะมีเลือกตั้งใหญ่

ก้อนสองเป็นนโยบายใช้หาเสียง ตอบโจทย์ประเทศไทย

“วันนี้เราเป็นรัฐบาลจะไปบอกว่าเลือกตั้งใหม่ถึงทำแบบนี้...ไม่ใช่ ในที่ประชุม พปชร.ก็บอกให้ทำเลย ทุกท่านที่เป็นรัฐมนตรีก็ทำอยู่แล้ว เพียงเอามาขยายผลให้เห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ พปชร.ขับเคลื่อนดูแลประชาชน

อย่าไปติดต้องทำเป็นนโยบายหาเสียง ไปรอเอาตอนใกล้ๆเลือกตั้งแล้วบอกว่าจะทำ ไม่ต้อง วันนี้เป็นรัฐบาลทำเลย แล้วก็บอกประชาชนไปว่าอันนี้ทำแล้ว”

ขณะที่นโยบายสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่มีแน่คือเกี่ยวกับฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ผ่านกองทุนช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ-กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สองกองทุนนี้นับเป็นยานแม่ที่ลงทุนระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ผ่านการระดมทุนไทยและเทศที่พร้อมร่วมลงทุน มีคณะกรรมการมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการตามเคพีไอ

สังคมช่วยเกื้อกูล คนรวยช่วยคนจน

ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน

เดินหน้าทำธุรกิจเพื่อสังคม ไปทำในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องกังวลกู้ชนเพดานหนี้สาธารณะหลังจากเก็บภาษีไม่เข้าเป้า นโยบายนี้ทำได้ทันที พรรคไหนเข้ามาก็อยากให้ทำแบบนี้

ทีมการเมือง ถามว่าคนนอกมอง พปชร.มีหลายกลุ่ม เริ่มขยับออกจากพรรคไป เพราะเป็นพรรคเฉพาะกิจ มีโอกาสแตกแน่นอน แต่หัวหน้า พปชร.กลับส่งสัญญาณไปต่อ โดยอัปเพจของ พปชร. เน้นข้อความ “ไม่เคยรอที่จะลงมือทำ แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน” พร้อมโชว์ผลงานที่ลุยแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่เคย หยุด ตอกย้ำภาพลงมือทำย้ำจุดยืน พปชร. มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

นางนฤมล บอกว่า พปชร.เป็นหนึ่งเดียว โดยหัวหน้าพรรคและ กก.บห.ทุกคนต้องการทำให้ พปชร.เป็นสถาบันทางการเมือง แม้สิ่งที่ปรากฏขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีนักการเมืองไหลออก ไหลเข้า ก็เกิดขึ้นกับทุกพรรคการเมือง

เป็นธรรมชาติทางการเมืองมีไหลออก มีไหลเข้า

มี ส.ส.ใน พปชร.บางกลุ่มที่ดูนิ่งอยู่ แต่เริ่มจะขยับออก มี ส.ส.บางส่วนเตรียมขยับเหมือนกัน เพราะไม่มั่นใจถึงความสัมพันธ์ของ “พี่น้องกลุ่มสาม ป.” ยังแนบแน่นเหมือนเดิมแค่ไหน นางนฤมล บอกว่า “ตอบสั้นๆ...ไปต่อแน่”

“เรื่องระหว่างผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ ท่านก็คุยกันเอง เราเชื่อมั่นผู้ใหญ่ไม่ได้มีปัญหาอะไร คงเกิดจากคนนอกหรือสื่อมวลชนอาจตีความกันไปเอง

แต่เราได้รับข้อความจากผู้ใหญ่มาโดยตลอดว่า ท่านไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน และสนับสนุนกันต่อไปอย่างแน่นอน พอลงมาระดับผู้บริหาร พปชร. หัวหน้าก็กระจายงานให้กับทุกคน

ฉะนั้นใน พปชร.ไม่มีใครใหญ่อยู่คนเดียว พอใครทำงานติดขัดก็ช่วยกันปรับแก้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หัวหน้าวางเอาไว้ กรรมการยุทธศาสตร์พปชร. ที่มีท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ก็ขับเคลื่อน

กลไกของ พปชร.ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับและนาทีนี้ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงในสิ่งที่ประชาชนรู้สึกกับ พปชร.

แล้วเอาสิ่งนั้นมาแก้ไข ใครช่วยอะไรได้ เสริมตรงไหนได้ต้องรวมพลังกัน มันไม่ใช่เวลาที่ต้องมาคิดว่า ฉันจะต้องเป็นใหญ่ ต้องควบคุมตรงโน้นตรงนี้...ไม่

วันนี้ต้องทำให้เหมือนตอนก่อเกิดตั้งพรรคนั้นขึ้นอีกครั้ง ที่รวมพลังจากบ้านใหญ่หลายจังหวัด บุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ไหลมาร่วมกัน พลังจึงเพิ่มๆๆกลายเป็น พปชร.”

ทีมการเมือง ถามว่าผ่านยกแรกพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ในวาระแรก ยังต้องเจอศึกอีกหลายยกกว่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ทั้งร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ พปชร.เตรียมรับมือศึกเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้รัฐบาลอยู่ยาวจนเสร็จประชุมเอเปก

นางนฤมล บอกว่า ภารกิจในสภาทำตามปกติ ราบรื่น หัวหน้า พปชร.ดูแลอยู่ ส่วน 8 ปีนายกฯ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุสุดท้ายขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ การยุบสภาก็เช่นเดียวกัน เป็นอำนาจของนายกฯ

แต่ไม่มีเหตุอะไรที่จะยุบสภา ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไป

ประเทศไทยจะไปข้างหน้าต้องยุติความขัดแย้ง เท่าที่พูดคุยกับประชาชนก็พบว่าเขาเบื่อความขัดแย้ง สู้กันตาต่อตา ฟันต่อฟัน สร้างความขัดแย้งให้หนักขึ้นไปอีก

มันเป็นพอยต์ใหญ่ พปชร.ก็ต้องย้ำให้เห็นทั้งการพูดและการปฏิบัติ โดยก้าวข้ามความขัดแย้งจริง ถ้าพรรคไหนแสดงบทบาทเช่นนั้นได้ เชื่อว่าประชาชนจะเลือก

พปชร.ปรับทัพนับถอยหลังเลือกตั้ง พรรคคู่แข่งย้ำสามเวลาหลังอาหารชนะแลนด์สไลด์ นางนฤมล บอกว่า ท้ายสุดอำนาจอยู่ที่ประชาชน จะบอกว่าแลนด์สไลด์อย่างเดียวไม่ได้ โจทย์เขาก็ไม่ง่าย โจทย์เราก็ไม่ง่าย

จริงๆสิ่งที่ควรตระหนัก คือภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไป แค่ปี 54-62 ก็ยังเปลี่ยนไปมาก ถ้าอยู่ครบเทอม...

...เลือกตั้งปี 66 สมรภูมิรบไม่เหมือนเดิม

ภายใต้ 2 ขั้วการเมือง ต่างฝ่ายก็แตกเป็นหลายพรรค ประชาชนชอบฝั่งไหนโอกาสย้ายฝั่งมีน้อย เป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกพรรคการเมือง ในการกำหนดยุทธศาสตร์ วางแผนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

วันนี้ถ้าสู้กันเองก็แยกย้ายกันเป็นแผล หรือจะทำอย่างไรที่คำนึงถึงประชาชน ถ้ามีหัวใจเดียวกันทำเพื่อประชาชน มีกลยุทธ์เดินไปอย่างไร ถ้ามีโอกาสระดับหัวหน้าพรรคคงคุยกัน เข้าใจว่าทุกพรรคก็กำลังนั่งคิดกันอยู่

เว้นแต่พอถึงใกล้เลือกตั้ง ประชาชนรู้สึกว่าเสียงแตกไม่ได้

เริ่มรณรงค์กลยุทธ์การเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลทางใดทางหนึ่ง

จุดนี้อยู่ที่ความหวังของประชาชนสุดท้ายตัดสินใจอย่างไร.

ทีมการเมือง