แม้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯผ่านพ้นมาหลายวันแล้ว และผลการเลือกตั้งเป็นที่ประจักษ์ชัด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ชนะถล่มทลายด้วยคะแนนเสียงกว่า 1.3 ล้านเสียง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่ประกาศผล จึงมีประชาชนโทร.เร่งรัดที่หมายเลข 1444 จนแทบสายไหม้

เหตุที่ กกต.ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง เนื่องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบว่าป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ มีเจตนาแอบแฝงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นำไปรีไซเคิลเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อน กกต.จึงต้องตรวจสอบให้รอบคอบ

เป็นเรื่องปกติธรรมดา หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง มักจะมีผู้นำป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ ที่นำไปใช้ประโยชน์ใช้สอยได้ (เว้นแต่ผู้สมัครจะหวงแหน) เช่น นำแผ่นกระดานไปกันคอกหมูหรือเล้าไก่ ไม่เคยมีการฟ้องร้องผู้สมัคร กล่าวหาว่ามีเจตนาสุจริต ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เพราะไม่ได้เจตนาซื้อเสียง

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ชื่อก็ระบุชัดเจนว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้ศักดิ์สิทธิ์ ให้ทุกคนเคารพและปฏิบัติ สมกับที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ น่าจะมุ่งความสนใจไปในเรื่องสำคัญๆ ที่อาจเสียหายต่อรัฐธรรมนูญ เช่น การซื้อเสียง หรือการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

หรือมิฉะนั้น ก็น่าจะร้องเรียนให้ตรวจสอบ เรื่องที่ประชาชนสงสัยและเรื่องราวที่อาจทำลายประชาธิปไตย เช่นสงสัยว่ามีการเมืองเข้าแทรกแซงในองค์กรอิสระ เช่น ส่งผู้ใกล้ชิดเข้าไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ อาจทำให้องค์กรอิสระขาดความเป็นอิสระ วินิจฉัยกรณีต่างๆโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่

ทำไมจึงไม่ตรวจสอบ กรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กล่าวหาข้ามทวีปว่ามีการซื้อขาย ส.ส. หัวละหลายสิบล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นจริงจะทำให้ประชาชนเสื่อมความเชื่อถือใน ส.ส. เสื่อมศรัทธาระบบรัฐสภา และประชาธิปไตย ถ้ามีการตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฏ จะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ

...

สมาคมจะมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง น่าจะฟังความเห็นของ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่เตือนผู้ร้องเรียนว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องรับผิดต่อคำร้องของตน หากเป็นการกลั่นแกล้ง เป็นความผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกและเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้ง 20 ปี.