“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” พร้อม “ดร.ยุ้ย” ลุยสำรวจชุมชนแออัดหลัง สน.ทองหล่อ เล็งปรับให้อยู่ในที่ถูกกฎหมาย ช่วยดูแลคุณภาพชีวิต เผย 3 แนวทางการบริหารสาธารณสุขของ กทม. ให้เข้าถึงประชาชน
วันที่ 29 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และ นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ว่าที่ ส.ก.เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา สำรวจพื้นที่ชุมชนแออัดที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสำรวจคลองเป้ง ซึ่งอยู่ติดกับชุมชน พร้อมทั้งพบปะประชาชนที่มาฉีดวัคซีน
จากนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ทองหล่อถือเป็นใจกลางเมือง แต่ชุมชนนี้ไม่เคยเห็นว่าเป็นชุมชนแออัดที่ซ่อนอยู่ 3-4 แห่ง เช่น ชุมชนหลังสถานีตำรวจทองหล่อ ชุมชนริมคลองเป้ง ชุมชนลีลานุช มีประชากรรวมกันอยู่ 300-400 หลังคาเรือน หลักๆ แล้วหลายชุมชนอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่มีโฉนด รุกล้ำสาธารณะ และกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่ขับเคลื่อนเมือง ทำงานอยู่ในพื้นที่เอกมัย ทองหล่อ เช่น อาชีพแม่บ้าน รปภ. อยู่ไกลงานไม่ได้
...
ทั้งนี้ จะต้องพยายามปรับให้คนในชุมชนไปอยู่ในที่ถูกกฎหมาย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เริ่มจากการออมในชุมชน จากนั้นขยับขยายไปหาที่ถูกกฎหมาย และช่วงเปลี่ยนถ่ายที่หาที่ถูกกฎหมายให้คนในชุมชนก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตด้วย โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูพื้นที่ เพราะสาธารณสุขใน กทม. มีความซับซ้อน มีหลายระดับ แต่หน้าที่ กทม. เป็นด่านแรกที่มาเผชิญปัญหา อีกทั้งศูนย์สาธารณสุขที่มีอยู่ 69 แห่งทั่ว กทม. ก็อยู่ไกลชุมชน ดังนั้นแนวนโยบายคือ ต้องนำการให้บริการสาธารณสุขลงมาในพื้นที่ชุมชนโดยคนในชุมชนไม่ต้องไปที่สาธารณสุข แต่ปัญหาคือ บุคลากรของ กทม. ไม่ได้มีจำนวนมาก จึงต้องมีเครือข่ายร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่บ้าง ขณะที่การจะให้บริการที่ทั่วถึงจะต้องมี 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 มีเครือข่ายชุมชนอบอุ่น ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชุน เพื่อมาดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การฉีดวัคซีนในชุมชน ตรวจโควิด-19 และหลังจากนี้จะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเป็นเจ้าของเงินว่าจะเลิกจ่ายอย่างไรให้สะดวก และ กทม. จะทำหน้าที่ร่วมได้อย่างไร โดยให้สำนักอนามัยเข้าไปดูแลในเรื่องของคุณภาพ
แนวทางที่ 2 ใช้เทคโนโลยี เทเลเมดิซีน มาเชื่อมต่อในการดูแลผู้ป่วยจากระบบทางไกล
แนวทางที่ 3 ขยายเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้เข้มแข็งขึ้นและเพียงพอกับพื้นที่ จำนวนประชากรของ กทม.
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ถือเป็น 3 แนวทางในการบริหารสาธารณสุขของ กทม. ได้ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้วยการลงพื้นที่ดูแลประชาชนให้ใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการให้เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลคนเมือง เช่น โรคซึมเศร้า โรคผู้สูงอายุ ออฟฟิศซินโดรม ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่มั่นใจระบบสาธารณสุขในด่านแรกของ กทม. จึงไปรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน
นอกจากนี้ยังต้องดูด้านคุณภาพชีวิต ขยะ น้ำ ของคนในชุมชนด้วย อย่างคุณภาพน้ำ ก็ต้องดูแล โดยใช้วิธีการบำบัดน้ำเสีย และให้ชุมชนช่วยกันดูแล โดยหลังจากนี้ จะมีการไปหารือร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และการเคหะแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ชาวชุมชนแออัด เกิดการออมเงินรวมตัวเป็นกลุ่มออมเงิน เพื่อจัดหาพื้นที่ จัดตั้งหมู่บ้านมั่นคง โดยจะเริ่มต้นจากพื้นที่ของราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจจะไม่ได้ใกล้ทองหล่อ ขยับออกไปไม่ไกล แต่ยังไม่สามารถตอบได้ในเรื่องของกรอบระยะเวลา เพราะต้องแล้วแต่สถานการณ์.