สามปีแรกเห็นชัดมันไม่สามารถทำอะไรได้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. และกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค (กมธ.) วุฒิสภา เปิดมุมมองถึงการทำงานของวุฒิสภา

พร้อมยกเหตุผลอาจจะมาจากเอกลักษณ์ที่มาของ ส.ว.ไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกส่วนมาจากเครือข่ายของ สนช. และบางส่วนอาจจะมีที่มาเป็นเอกเทศ

แม้อำนาจและหน้าที่ถูกกำหนดเอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ยังติดตำแหน่ง ติดอะไรหลายๆอย่าง

สมมติอยากสมัคร กมธ.ชุดนี้ ก็เพิ่งรู้ว่า อุ๊ย!! เหมือนเขาจัดตั้งมาแล้ว...ไม่ให้ทำเยอะมากเลยที่เป็นอย่างนี้

“เวลาโหวตหลายๆครั้ง โดยเฉพาะญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นลักษณะ อย่าเรียกว่าบล็อกเลย อยากจะเรียกว่าฟอร์สบังคับให้โหวต ซึ่งหมอไม่ใช่คนนั้น

ฉะนั้นในสามปี ไม่เคยเสนออะไรเปลี่ยนแปลงได้เลย!! เพราะด้วยความเป็นระบบราชการและระบบทหาร เขาไม่อยากทำอะไรให้มันกระเทือนนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หรือรัฐบาล

เคยคุยกันหลายคนแล้วว่า วุฒิสภาต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เฮ้ย!!! ทำไมงานปฏิรูปที่ไม่เดินหน้า ทำไมไม่พูดกับนายกฯตรงๆ เพราะเราเห็นระบบที่นายกฯวางมา

...

ก็ให้สภาพัฒน์ไปรวบรวม ให้หน่วยงานราชการเสนอ มันได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง แล้วทำไมนายกฯไม่สั่งลงมา บ้านเมืองต้องการปฏิรูป ปฏิวัติตอนนั้นก็ต้องการเข้ามาปฏิรูป

สามปีเราเห็นว่าเมื่อไม่กล้าสื่อสารถึงนายกฯ ก็ทำอะไรไม่ได้เลย รัฐมนตรีก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่ความเกรงใจ

ทั้งที่เราทำงานให้ประเทศ ภายใต้ก้นบึ้งของหัวใจที่เหมือนกัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องไม่ถูกทำลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเดินจังหวะเดียวกันทั้งหมด

พูดง่ายๆ รู้สึกเสียดายเงิน แต่ก่อนทำงานได้เงินนิดเดียว ทำงานหนักชิปเป๋ง ตอนนี้เงินเยอะกว่าแต่ก่อน กลับทำอะไรไม่ได้

ตอนนี้ก็มี ส.ว.หลายคนพูดคุยกันว่า เหลือเวลาอีกสองปีเท่านั้นไม่คิดจะปรับปรุงอะไรบ้างเหรอ”

ทีมข่าวการเมือง รายงานว่า ก่อนหน้านั้นมีการประชุม กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน กมธ. โดยมีสมาชิกหลายคนเสนอให้ห้วงเวลาที่เหลืออยู่ ควรมีการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์

ที่ผ่านมาประชาชนมอง ส.ว. เข้ามาค้ำบัลลังก์หรือทำงานให้รัฐบาลมากกว่า เพราะ ส.ว.มีที่มาจาก คสช.

แม้ ส.ว.ทำตามอำนาจและหน้าที่ กลั่นกรองกฎหมาย ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบประชาชน แต่ภาพลักษณ์ที่มาถูกกลบเกลื่อนไปหมด เป็นภาพตรึงตาที่ยากจะดึงออกจากความรู้สึกของประชาชน

ในที่ประชุมวิปรัฐบาลเสนอแนวทางสร้างภาพลักษณ์ของวุฒิสภา อาทิ กมธ.ทุกคณะ ต้องกล้าแสดงบทบาท ต้องกล้าชน แม้กระทบต่อรัฐบาล กระทบต่อผู้มีอำนาจ ก็ต้องกล้าทำ

รวมถึงไม่ทำงานเฉพาะรูทีนตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น มันต้องทำงานตามเสียง กระแส เสียงสะท้อนของสังคมให้เป็นที่ประจักษ์

วุฒิสภาต้องทำงานเชิงรุก กล้ากระโดดปะทะชนิดถึงลูกถึงคน

ทีมข่าวการเมือง ถามว่าที่ประชุมวิปวุฒิเคยพิจารณาถึงการปรับบทบาททำงานเชิงรุกของวุฒิสภา เพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในช่วงเวลาที่เหลืออีกสองปี รวมถึงการโหวตเลือกนายกฯ หากแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่สำเร็จ ส.ว.250 คน ควรกำหนดท่าทีโหวตนายกฯล่วงหน้า

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า ปรับปรุงการทำงานเหรอ!? ไม่มีทาง เพราะตั้งแต่ระดับเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง ขององค์กร รวมถึงประธาน กมธ. ส่วนใหญ่ก็เป็นทหารหมด

ทุกอย่างเวลาประชาสัมพันธ์ก็ทำภายใน เราก็ถามว่าไปทำกิจกรรมอะไรก็ส่งให้ดูกันเอง ไม่เห็นสังคมรับรู้ จนกระทั่งล่าสุดเกิดคดีแตงโม ทุกคนบอกเป็นครั้งแรกที่สังคมรู้ว่า ส.ว.มีไว้ทำอะไร

“เชื่อไหมว่าไม่เคยถูกคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ วุฒิสภาวางตัวให้ไปออกรายการโทรทัศน์เลยสักครั้งเดียว มีเฉพาะประธาน กมธ. รองประธาน กมธ. โฆษก กมธ.

เฉพาะข้อเสนอที่อยากให้เขย่าใหม่เพื่อเลือกว่าจะทำอะไรดีที่สุด... ไม่มีทาง เพราะคนที่คุมเรื่องติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธ ศาสตร์ชาติ คือ ทหาร สายตรงนายกฯ

เราพูดเขาก็ไม่สนใจอยู่แล้ว เราก็ยึดหลักธรรมอะไรที่อยากทำ แต่เป็นสิ่งเขาลิขิตให้ทำ ก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

ส่วนการโหวตนายกฯ แน่นอนโหวตครั้งแรกก็ดูดีที่ต้องการให้เข้าไปมีอำนาจ ทำงานได้ง่ายขึ้น แต่นายกฯไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งที่ควรเป็น สุดท้ายพิสูจน์แล้วไม่มีประโยชน์อะไร

รอบหน้าไม่โหวตให้ “ประยุทธ์-ไม่โหวตให้คนอื่น” ด้วย

ซึ่งมี ส.ว.เยอะมากที่คิดแบบนี้ มันเป็นอำนาจที่ไม่ควรกำหนดให้เรา รอบหน้าปล่อยให้ไปตามระบบ

ปล่อยให้เป็นไปตามระบบกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ

วุฒิสภาช่วยรัฐบาลทางอ้อม โดยตั้งหลักทำงานเชิงรุก เพื่อวางบทบาทให้ล้อไปกับสังคมที่ก้าวหน้า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า กำลังทำอยู่ เพราะเพิ่งเปิดสมัยประชุมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างที่บอกทุกคนบ่น แต่ก็ออกแอ็กชัน...เงียบ!!

แม้ตอนนี้รู้สึกไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ และอีกไม่กี่วันวุฒิสภาจะแถลงผลงาน มี ส.ว.บางท่านบอกว่าจะจัดโอท็อป อุ๊ยตายละ...ส.ว.ทำอะไรเนี้ย!?

ส.ว.เอาไว้โหวตนายกฯ คุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า ใช่ๆ ที่สำคัญนายกฯใช้วิธีนี้ เพราะจะได้ไม่ต้องระแวงว่า ส.ว.เป็นหอกข้างแคร่

“ที่สำคัญที่ดูว่าแย่ คือ การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่ผ่านมา เหมือนร่างด้วยมือและลบด้วยเท้า เพราะร่างรัฐธรรมนูญวางให้พรรคเล็กเกิด แล้วจู่ๆก็ไม่สามารถคุมได้

ถามว่าทำไม เพราะนายกฯ กับบิ๊กป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรองนายกฯ) นายกฯไม่เคยเกรงใจใครนอกจากบิ๊กป้อม กลายเป็นบิ๊กป้อมไม่ทันเกม หรือปล่อยไป

ก็เลยโหวตเละเทะ เพราะพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจ มันทำให้เห็นว่าไปทำให้รัฐธรรมนูญพัง พอมาวันนี้จะโหวตการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 หรือ 500

ที่สำคัญ ส.ว.หลายคนยังไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องรอสัญญาณจากนายกฯ แต่โหวตครั้งนี้ไม่รู้จริง ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายเขา ไม่สนใจ”

โหวตแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มีการส่งสัญญาณให้ผ่านหรือไม่ผ่านอย่างไร พญ.คุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า เผอิญไม่ได้รับสัญญาณ เพราะเขาไม่เคยส่งให้ จะส่งเฉพาะกลุ่มของเขา

นอกจากมีบางคนส่งให้ เป็นสติกเกอร์แอปเปิ้ลแดง คือโหวตโน แอปเปิ้ลเขียวคือเห็นด้วย ส่วนใหญ่ ส.ว.ก็ไม่ค่อยทำการบ้านก่อนโหวต

พอถึงวันโหวต ส.ว.สายทหารก็รอสัญญาณอย่างเดียว

แต่อีกมุมหนึ่งของ ส.ว.มีข้าราชการดีๆเยอะมาก ที่อยากทำนู่นทำนี่ แต่นายกฯกลับไม่สนใจสภา เข้าใจได้ว่าเขาเหนื่อยที่ประคองประเทศให้ผ่านมาได้ 8 ปี

ถามว่าเคยหยุดกลับมาคิดว่าเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งปี จะส่งสัญญาณให้สภาทำอะไรให้ประเทศได้ ไม่มี ไม่เคยกลับมาคิด เหมือนกับสภาเป็นไม้ตาย ไม่ทำร้ายฉัน

เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ยังขึ้นอยู่กับรัฐบาล พญ.คุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า ถ้าไม่ปฏิวัติก็ต้องโหวตเลือกนายกฯอีกครั้ง ถ้าคะแนน ส.ส. สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯคู่คี่ ส.ว.สายทหารหรือสายอื่นก็โหวตเหมือนเดิม

แต่มี ส.ว.ส่วนหนึ่งไม่โหวตให้แน่นอน เพราะเราเข้ามาปฏิรูปประเทศ และยังพบว่าการปฏิรูปไม่สำเร็จ ทั้งที่นายกฯเข้ามาก็มีภารกิจต้องปฏิรูปประเทศ

แม้แทบไม่เหลือเวลาด้วยซ้ำไป นี่ถ้าฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็เชื่อว่าล่มสลายแล้ว

ถ้าจะทำประโยชน์ให้ประเทศครั้งสุดท้าย

ควรส่งสัญญาณให้ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ.

ทีมการเมือง