อำนาจส่วนกลาง...ถ่วงความเจริญ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ไม่ว่าใครจะชนะ-ใครแพ้ล้วนสะท้อนภาพการเมืองไทยได้ระดับหนึ่ง

วัดจากความนิยมของคนกรุงเทพฯที่มีผลต่อรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามได้ทางหนึ่ง แต่คงมิใช่เอามาวัดเป็นบรรทัดฐานการเมืองระดับประเทศได้

เพราะมันมีเงื่อนไขและปัจจัยที่ต่างกันไป

เอาเป็นว่า คนกรุงเทพฯก็เตรียมไปไล่เบี้ยกับผู้สมัครที่ได้รับเลือกว่าจะทำตามที่ประกาศนโยบายเอาไว้ได้หรือไม่

กรุงเทพมหานครนั้นเป็น “เมืองหลวง” ของประเทศที่มี ความสำคัญ มีประชากรน่าจะถึง 10 ล้านคน เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก

ที่สำคัญคือ เป็นเมืองที่เป็นทุกอย่างของประเทศไทย

มีผู้นำประเทศหลายคนได้เสนอไอเดียทำนองว่า เมื่อกรุงเทพฯแออัดยัดเยียดกันอย่างนี้ควรที่จะย้าย “เมืองหลวง” ออกไปอยู่ที่อื่น

โดยเฉพาะการแยกเอาหน่วยราชการออกไปรวมกันอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เมื่อเอาหน่วย ราชการออกไปแล้ว ก็จะมีพื้นที่ที่จะปรับปรุงใหม่อย่างหลายประเทศทำกัน

ทว่าถ้าจะทำกันก็ต้องทำกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวมีแผนการที่ชัดเจนไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างศูนย์ราชการที่นำหน่วยงานไปรวมกันที่นนทบุรี ซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรได้เลยนอกจากได้ที่ทำงานใหม่เท่านั้น

รถก็ยังติด ความแออัดก็ยังเหมือนเดิม เพราะไม่ใช่การย้ายเมืองแต่เป็นการขยายเมืองเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลแก้ไขปัญหาแบบขอไปที

อยากจะย้ายเมืองหลวง แต่ไม่กล้าตัดสินใจ

มันก็เละเทะไปกันใหญ่...

มาถึงวันนี้ยังไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องนี้อีก เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แม้จะอยู่มาเกือบ 8 ปี แล้วก็ตาม

...

พูดถึงการย้ายเมืองหลวงยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทมซึ่งเป็นการปกครองพิเศษ

แต่มันก็เพียงแค่รูปแบบเท่านั้น...

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่ประกาศนโยบายสวยหรูจะทำนั่นทำนี่เอาจริงเข้าก็ไม่สามารถทำอะไรได้เท่าใด

เพราะระเบียบการบริหารและการปกครองยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่าง กทม.และผู้ว่าฯ กทม.แม้จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามา แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง

พูดง่ายๆว่า ผู้ว่าฯแทบจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไรได้เลย

หน่วยราชการยังคงมีอำนาจในพื้นที่ ซึ่งแล้วแต่จะรับผิดชอบงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ว่าฯ กทม.จะสั่งการเองได้

เห็นผู้สมัครหาเสียงจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จึงชวนให้ตลก ขำขันไม่ต่างกับการหลอกต้มคนกรุงเทพฯ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ทำไม่ได้

นี่เพราะโครงสร้างอำนาจยังไม่ได้รับการกระจายอย่างแท้จริง.

“สายล่อฟ้า”