"วิโรจน์" จัดหนัก น้ำท่วมกรุงฯ เหตุ กทม.ถูกตัดงบระบายน้ำเหี้ยน ประเคนให้ "อุโมงค์ยักษ์" จวกอดีตผู้บริหาร กทม. จัดงบแย่ จนน้ำท่วมทำอัมพาตทั้งกรุงเทพฯ ยัน หากได้เป็นผู้ว่าฯ เปลี่ยนงบอุโมค์ยักษ์ เป็นขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง
วันที่ 18 พ.ค. 65 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ถาม เมื่อวานฝนตกหนัก แต่ระบบระบายน้ำกลับเป็นอัมพาต! การบริหารของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาปล่อยให้ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ขาดการดูแลแบบนี้ได้อย่างไร
หัวใจของการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ อยู่ที่การจัดสรรงบประมาณ แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขงบประมาณ งบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกลับถูกตัดเหี้ยน
งบซ่อม/สร้างสถานี-ประตู-บ่อสูบน้ำ โดนตัดไป 5,170 ล้าน เหลือ 136 ล้าน
งบข้อมูลพยากรณ์อากาศและน้ำท่วม โดนตัดไป 295 ล้าน เหลือ 68 ล้าน
งบสร้างแก้มลิง โดนตัดไป 1,463 ล้าน เหลือ 96 ล้าน
งบเครื่องสูบน้ำและรถเคลื่อนที่เร็ว โดนตัดไป 1,005 ล้าน เหลือ 0 บาท (ย้ำว่าศูนย์บาท)
ยังไม่รวมงบโครงการพื้นฐานในการลอกท่อลอกคลองที่โดนตัดไป 7,144 ล้าน เหลือ 521 ล้าน
ในขณะที่งบสร้างอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้าน ที่ไม่ทีการเบิกจ่ายเลย กลับไม่โดนตัดสักบาท
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab บอกว่า การลอกท่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 ทำได้เพียง 7.51% จากความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพฯ แล้วจะไม่ให้น้ำท่วมขังได้ยังไง!
ผู้ว่าฯ ต้องจัดสรรงบใหม่ และเร่งรัดการลอกท่อลอกคลองทั่วกรุงเทพฯ ก่อนฤดูฝนให้ได้ครับ
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปอีกว่า นโยบาย “ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง” จบปัญหาน้ำรอระบาย
ปัญหาน้ำท่วมแก้ได้ ไม่ต้องใช้เมกะโปรเจกต์ เพียงแค่ดูแลระบบระบายน้ำทั่วกรุงเทพฯ ให้ใช้งานได้จริง
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพฯ จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมเท่าใดนัก โดยงบขุดลอกคูคลอง บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ที่จะสามารถช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้ในวันนี้กลับได้รับงบน้อยจนไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ส่วนอุโมงค์ยักษ์ที่ยังไม่สามารถใช้การได้ในเร็ววันนี้ กลับได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก
ในส่วนการขุดลอกคูคลองที่หากทำได้ดีก็จะสามารถช่วยระบายน้ำได้มากก็มีปัญหาการทุจริต เนื่องจากกรุงเทพฯ ประเคนงานให้กับเอกชนเพียงไม่กี่ราย เมื่อมีผู้รับเหมาน้อยรายสุดท้ายก็ไม่สามารถขุดลอกคูคลองได้ทัน มากไปกว่านั้นเอกชนที่มาประมูลงานจำนวนมากก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จด้วยตนเอง แต่เข้ามาประมูลงานเพื่อฟันหัวคิว แล้วไปจ้างช่วงให้บริษัทอื่นมาทำงานต่ออีกที
กรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องเริ่มการประมูลหาผู้รับเหมาอย่างเป็นธรรม หยุดประเคนงานให้กับผู้รับเหมาเพียงไม่กี่ราย รวมทั้งออกกฎระเบียบห้ามจ้างช่วง หากเอกชนรายใดไม่มีศักยภาพที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วง ก็ห้ามประมูลงานเพื่อไปจ้างช่วงฟันหัวคิว
...
ทั้งหมดนี้หากผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครชื่อวิโรจน์ สิ่งที่เราจะทำคือ
เปลี่ยนงบอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้าน เป็นขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง เพื่อให้ “น้ำรอการระบาย” ระบายได้เร็วขึ้น เมื่อฝนตกน้ำไม่ท่วม แยกระบบท่อน้ำฝน-ท่อน้ำเสีย เพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command) เพื่อให้ข้อมูลทันสถานการณ์ การตัดสินใจทำได้รวดเร็ว
หน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลอกท่อเมื่อฝนตกระดับวิกฤติ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ โดยเพิ่มระบบสำรองไฟสถานีสูบน้ำที่ต้องใช้ automatic transfer เปลี่ยนเฟสไฟ และใช้ระบบ iot ควบคุมเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องรอไขกุญแจ.