นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สนับสนุนการสร้าง “อาเซียนสีเขียว” อย่างยั่งยืนและสมดุล

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2565) เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และและผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ ได้แก่ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนกับสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องร่วมกันทำให้สำเร็จเพื่อโลกใบนี้และอนาคตของลูกหลานของทุกคน โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การมีสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันต่างๆ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงถึงการสนับสนุนความมุ่งมั่นของภูมิภาค และของโลกในเรื่องดังกล่าว ไทยได้ประกาศเป้าหมายในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งจะพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง

...


นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังทั้งในระดับ ประเทศ ภูมิภาค และโลก เพื่อให้สามารถดำเนินการและบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยยินดีที่ได้รับทราบเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอความร่วมมือใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บคาร์บอนและนำมาใช้ประโยชน์ พลังงานอัจฉริยะ และเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งสหรัฐฯ มีศักยภาพที่จะเข้ามาขยายการลงทุนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาดังกล่าว โดยไทยมี EEC ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งรวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมทั้ง มุ่งมั่นปรับปรุงความปลอดภัยด้านคมนาคมสร้างถนนที่มีคุณภาพสูง


2. การสนับสนุนด้านการเงิน ให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกองทุนหรือกลไกทางการเงินสีเขียวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ มีแผนการเงินระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศที่จะสนับสนุนการสร้าง “อาเซียนสีเขียว” ได้ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน และตราสารหนี้สีเขียวของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งมีการออกทั้งตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน

3. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสนับสนุนให้ภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน และประชาชนร่วมมือกันปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างสมดุล และเป็นหนทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐานของการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืนแบบองค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และสามารถต่อยอดในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้าได้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ป่าไม้ การปลูกพืชมีค่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า “เราหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว” ซึ่งความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว การหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และความร่วมมือร่วมใจแบบไม่แบ่งฝักฝ่าย จะเป็นหลักประกันสำคัญถึงความอยู่รอดของโลกและคนรุ่นหลังต่อไป