ผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ และอาเซียน ย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกัน เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองฝ่าย

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในงานเลี้ยงฯ (12 พฤษภาคม 2565) เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ รัฐสภาสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ได้พบผู้นําจากฝ่ายรัฐสภาสหรัฐฯ ผู้ทรงเกียรติ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งครบ 45 ปีในปีนี้ โดยไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพลิกฟื้นให้โลกกลับมาเข้มแข็ง มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตในยุค Next Normal

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันถือเป็นจุดแข็งหลักของอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกว่า 1 พันล้านคนของอาเซียนและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน เป็นคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนอันดับ 1 ของภูมิภาค ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การผลักดันการค้าเสรี และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกครั้งที่ 4 ดังนั้นประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้จึงให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับต้น

...

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะเติบโตเป็นอันดับ 4 ภายในปี ค.ศ.2030 อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ และสร้างงานให้กับชาวอเมริกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาใหม่ๆ อาทิ พลังงานสะอาด อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1833 โดยเริ่มจากความตกลงด้านมิตรภาพและพาณิชย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรและการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ปัจจุบันสหรัฐฯ มีการลงทุนในไทย 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมาลงทุนใน 26 รัฐของสหรัฐฯ คิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า บรรยากาศแห่งความสงบ สันติสุข จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและพัฒนาไปสู่การมีอนาคตที่มั่นคง โดยหวังจะเห็นบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายใน 4 สาขา ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ ด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของสองฝ่ายและของภูมิภาค และหวังว่า รัฐสภาสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือต่างๆ ในทางบวกให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์อันยั่งยืนและสมดุลของประชาชนของอาเซียนและสหรัฐฯ.