“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 หากได้รับเลือก มั่นใจ 4 ปีเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมฟังคำตอบ แก้ปัญหารถติด ขนส่งสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ


เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 11 พ.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2565 (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 มาร่วม #กินข้าวเย็นกับผู้ว่า กับทางไทยรัฐพลัส และไทยรัฐออนไลน์ ผ่านการดำเนินรายการโดย นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ เอ๋ นิ้วกลม และ น.ส.อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ ตอบคำถามในหลายประเด็น ซึ่งจะขอยกมาบางส่วน

นายชัชชาติ ยืนยันคำนิยามตัวเองว่าเป็นนักการเมืองเพราะลงเลือกตั้ง พร้อมกล่าวย้อนไปถึงสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเป็นรัฐมนตรีโลกลืมเพราะไม่เคยได้สื่อสาร ซึ่งการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นบทเรียนมาจนถึงวันนี้ ส่วนเรื่อง “มีมถือถุงแกง” ก็ถือว่าเปลี่ยนชีวิต ทำให้คนรู้จักและเข้าถึงประชาชนหลายช่วงวัยได้มากขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้สร้างขึ้น เพราะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการบริหาร แต่ไม่ชอบความขัดแย้ง เฟกนิวส์ ความเกลียดชัง พร้อมมองว่าคนทุกคนเป็นสเปกตรัม (Spectrum) ไม่ใช่ไบนารี (Binary)

...

ทั้งนี้ ผู้นำต้องเก่งในระดับหนึ่ง เพราะการทำงานกับคนสำคัญ มองว่าส่วนตัวทำได้ ส่วนจุดที่ทำให้มีคนเข้ามาร่วมทีมจำนวนมาก คิดว่าเป็นการลงแข่งในนามผู้สมัครอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง คนก็รู้สึกสบายใจ และที่ผ่านมาก็รู้สึกสนุกและมีความสุข ส่วนคำถามเรื่องมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ กล่าวติดตลกว่า จะไปลาออกแคนดิเดตได้ที่ไหน แต่ถ้าเขาจะเสนอก็ต้องปฏิเสธ เพราะมาสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. แล้ว อีกทั้งยอมรับมาตลอดและไม่เคยปฏิเสธว่าเคยสังกัดพรรคเพื่อไทย จนนำมาสู่เส้นทางนักการเมืองทุกวันนี้

ขณะที่หากได้เป็น ผู้ว่าฯ กทม. จะดำเนินการ 3 เรื่อง 1. รูทีน คุณภาพชีวิตคน 2. กลยุทธ์ และ 3. การเมือง โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคุยกับ ส.ก.แต่ละเขต เพื่อรับฟังความต้องการแต่ละพื้นที่ ต้องรวมเป็นหนึ่ง เพราะไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายจะได้ ส.ก. ของใคร ซึ่งงานบริหารเมืองนั้นแตกต่างจากรัฐบาล ก็หวังว่าจะร่วมใจ ส.ก. ได้ และ กทม. ต้องฟังคนทุกรุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีพลัง ขณะเดียวกันก็ต้องร่วมมือกับเอกชนให้เข้มแข็งด้วย

ส่วนคำถามระยะเวลา 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม.นั้น สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ แม้ กทม. จะมีปัญหาเยอะ แต่เป็นปัญหาซ้ำๆ กัน ที่ผ่านมา กทม. โฟกัสเมกะโปรเจกต์ ซึ่งแก้ได้บางจุด แต่ไม่ได้แก้เส้นเลือดฝอย ทางด้านเรื่องรถไฟฟ้า มองว่ากระทรวงคมนาคมควรเป็นเจ้าภาพ ถ้าทุกสายเป็นของเจ้าเดียวจะสามารถควบคุมค่าโดยสารได้ กทม. ไม่ได้มีเงินมากพอ ถ้าแบกโครงการที่ใหญ่มากจะไม่มีงบประมาณไปทำอย่างอื่น

นอกจากนี้ ในเรื่องรถติด ก็ยอมรับว่าแก้ไม่ได้ 100% เพราะมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพตั้งศูนย์บัญชาการร่วม ลงทุนระบบให้ และต้องเปลี่ยนมุมมองมาโฟกัสที่ขนส่งสาธารณะ ต้องเดินรถเมล์เสริม ถ้ามีขนส่งสาธารณะที่ดี ครอบคลุม เชื่อว่าคนจะหันมาใช้มากขึ้น ถ้าเมืองเดินได้ ฟุตปาทดี มีร่มเงา และต้องทำฮับการเชื่อมต่อแต่ละรูปแบบการเดินทางให้สะดวกขึ้น ซึ่ง กทม. ผลักดันให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของ กทม. ด้วย เมื่อคุณภาพชีวิตในแต่ละคนแต่ละด้านดีขึ้น เชื่อว่าอันดับเมืองน่าอยู่ก็จะขยับขึ้นด้วย สอดคล้องกับนโยบาย กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

เมื่อถามถึงมุมมองเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนในโรงเรียน กทม. นายชัชชาติ แสดงความเห็นว่า ต้องไม่เป็นภาระผู้ปกครอง ถ้า กทม. ให้ฟรีได้ ก็ต้องให้อย่างมีคุณภาพ จะช่วยลดภาระครอบครัวที่มีรายได้น้อย และเด็กไม่ต้องคิดมากว่าจะใส่อะไรไปโรงเรียน ส่วนเรื่องทรงผมก็ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ขณะโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ นายชัชชาติ ชี้ว่า ต้องดูแลที่เด็ก การศึกษาต้องได้คุณภาพที่ดี สร้างโอกาสให้เขา เพราะเป็นช่วงวัยที่เติบโตเร็ว

ถูกถามถึงม็อบบนท้องถนน นายชัชชาติ ระบุว่า กทม. ต้องเตรียมพื้นที่ให้คนชุมนุม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ใน 50 เขต ไม่ต้องขออนุญาต โดยจะมีการอำนวยความสะดวกเรื่องรถห้องน้ำและการเก็บขยะ กทม. ต้องดูแลในฐานะพลเมือง ไม่ใช่เพียงแต่การชุมนุม แต่เป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนมาแสดงออกหรือทำกิจกรรมได้ด้วย ส่วนถ้าหากมีการลงถนนก็เป็นเรื่องของตำรวจ เรื่องของความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม คำถามว่าถ้าไม่เลือกตัวเองในวันเลือกตั้งที่ 22 พ.ค. 2565 จะเลือกใคร นายชัชชาติ ระบุว่า จะเลือก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พร้อมให้เหตุผลว่ามีความมุ่งมั่น ก่อนจะทิ้งท้ายว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่สนุก และอย่าไปเครียดมาก

สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนสุดท้ายที่จะมาร่วม #กินข้าวเย็นกับผู้ว่า ตอบคำถามและแสดงวิสัยทัศน์ ในวันที่ 13 พ.ค. 2565 คือ นายวิโรจน์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล สามารถติดตามได้เช่นเดิม ทางไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐพลัส.

ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย