ขอทำเมืองหลวงให้เจริญทัดเทียมกับมหานครทั่วโลก “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 11 พรรคไทยสร้างไทย ชี้ให้เห็นโฉมหน้ากรุงเทพฯ ในอนาคต ผ่านการหล่อหลอมประสบการณ์การบริหารของตัวเอง และทีมงาน ซึ่งจะเข้ามาจัดการสะสางปัญหาให้ชาว กทม. ผ่านนโยบายต่างๆที่รณรงค์หาเสียง

สมัยเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ทอท.มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิ นำที่รกร้างว่างเปล่า ไร้ประโยชน์ มาทำสนามจักรยานสุวรรณภูมิ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐมูลค่า 2 พันกว่าล้าน มีเอกชนมาทำให้ เป็นการเปิดประตูให้คนไทยเข้าไปปั่นเกิน 1 ล้านครั้ง ตอนนี้กลายเป็นสนามจักรยานที่ดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก

หากเป็นผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำโปรเจกต์ได้มากกว่านี้ 10 เท่า

เพราะศักยภาพของ กทม.ต่างกับ ทอท. ฉะนั้นนโยบายต่างๆที่ดูเหมือนกับผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ที่แตกต่างคือ การบริหารจัดการให้สำเร็จตามธงที่ปักไว้

ในการพูดคุยครั้งนี้เน้นปัญหาที่ชาว กทม. อยากให้สะสาง อาทิ แก้ปัญหาน้ำท่วม ทำได้ทันที ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ปัญหารถติด แก้ยากมาก แต่เรามีวิธีจัดการ แก้ทั้งระบบ ปัญหาเพิ่มพื้นที่สีเขียว ก็จัดการได้

...

เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นกับคนกรุง

พร้อมขยายความการแก้ปัญหาขยะ วันก่อนไปดูโรงขยะที่อ่อนนุช ยุค 30-50 ปีก่อนจุดนี้เป็นชานเมือง เมืองขยายพัฒนาเกินพื้นที่อ่อนนุช แล้วทำไมโรงขยะยังตั้งอยู่บนพื้นที่ 500-600 ไร่

แค่ย้ายออกไปโดยไม่ต้องสร้างโรงขยะใหม่ และปรับเป็นสวนสาธารณะดีกว่าไหม

การกำจัดขยะต้องเขย่าเชิงโครงสร้าง

ซึ่งก็ได้อธิบายละเอียดยิบให้เห็นภาพถึงปริมาณขยะใน กทม.แต่ละวันมหาศาล ต้นทุนการจัดเก็บ ผลการขาดทุนแต่ละปีของ กทม.

หากทำตามนโยบายแก้ปัญหาขยะ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดแยกที่เพิ่มมูลค่า พร้อมเก็บให้ฟรี คิดดีๆ อาจแถมตังค์ให้ด้วย แต่ถ้ายังทิ้งกันไปหรือเรียกว่าขยะมักง่าย ก็จำเป็นต้องเก็บเงินเพิ่มหรือชาร์จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆเสริมสร้างวินัยการทิ้งขยะ

การกำจัดขยะก็เปิดให้เอกชนเข้ามาจัดการ ทำไม กทม. ต้องไปลงทุนเอง ทุกวันนี้ค่าขนขยะตันละ 900 บาท ผมได้คุยกับเอกชนก็บอกว่า “ขยะมันมีค่า”

ฉะนั้น 400-500 บาทต่อตัน เอกชนก็ขนให้แล้ว ค่าน้ำมันอาจถึง 2 พันบาท แต่มูลค่าขยะมันมหาศาล เอกชนยอมจ่ายตังค์ซื้อขยะ กทม. ยิ่งแยกคัดมา มูลค่าก็เพิ่มหลายเท่าตัว

สุดท้ายจะเป็นเหมือนญี่ปุ่น ขยะที่คัดแยกอย่างดี ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ขนาดโรงงานไฟฟ้าอยู่ใจกลางเมือง เผาขยะไม่ส่งกลิ่นเหม็นเลย

บริหารจัดการดีมีเงินเหลือเข้า กทม. 1-2 พันล้านบาท ปัญหานี้เหมือนเส้นผมบังภูเขา เป็นสิ่งที่คิดกันไม่ออกหรือแกล้งไม่รู้ เพื่อละลายงบประมาณปีละเกือบ 7 พันล้านบาท

ปัญหาน้ำท่วมก็เช่นกัน กทม. ลงทุนไปกับเรื่องนี้นับแสนล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ วิธีการจัดการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ให้รวมคลองใน กทม. รวมยาวกว่า 2 พันกิโลเมตร เพื่อใช้คลองให้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระบายน้ำ สัญจร ใช้ในการเกษตร

ลองคิดหน้าตักเฉลี่ยของคลอง เท่ากับ กทม. มีที่ว่างอยู่ต่ำกว่าระดับถนนอยู่แล้วเยอะมาก และตามธรรมชาติน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ระบบระบายน้ำจากถนนลงท่อระบายน้ำ ลงคลอง ไหลลงแม่น้ำ

อุตุฯเตือน พร่องน้ำในคลอง ไม่ต้องทำแก้มลิง

เลือกตั้ง ฤดูฝนมา ผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ขอเวลา 7 วัน จัดการเรื่องน้ำ วันแรกรับรองจัดการทดสอบระบบระบายน้ำทั่ว กทม. รับมือน้ำทะเลหนุน น้ำเหนือ และฝนตกใน กทม.

รับรองน้ำไม่ท่วม กทม.สามารถดูแลได้...จบ

ถ้าพื้นที่ไหน กทม. เอาไม่อยู่จริงๆ ก็แจ้งชาว กทม. ทั้งพื้นที่เกษตร ใช้สัญจรทางเรือ ผมเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ ทุกประเทศก็ทำกันแบบนี้

เฉกเช่นปัญหารถติด ต้องยอมรับว่าเกินขีดความสามารถของ กทม. แม้มีวิธีแก้ได้หลายวิธี แต่ที่แก้ได้ทันทีต้องมีการจราจรอย่างอื่นมาทดแทนรถยนต์ และคนสัมผัสได้ถึงความสะดวก ดีกว่า ถูกว่า

โดยต้องบริหารจัดการให้ดี เจรจากับเอกชน ประสานกับรัฐบาล เพื่อให้ค่ารถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 15% ของรายได้เฉลี่ย สมมติรายได้ 1-1.5 หมื่นบาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเดือนต้องไม่เกิน 2 พันบาท ปัญหานี้แก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา

โดยนำข้อดีของสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ หรือประเทศอื่น มาเป็นแบบอย่างและพัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบไทยๆ

ไม่ใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือย

เมื่อประหยัดงบประมาณได้เยอะขนาดนี้ ก็นำงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้ชาว กทม.อย่างน้อย 5 พันกว่าล้านบาท กระจายไป 50 เขต เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชาวกรุงเทพฯ

ขอย้ำว่าทุกนโยบายทำได้จริง และต้องได้รับความร่วมมือกับชาว กทม. โดยแยกนโยบายเป็น 3 P ทั้ง People สร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพฯ ประชาชนคือผู้สร้างเมือง ไม่เชื่อว่าจะมีซุปเปอร์ฮีโร่จากไหนมาสร้าง กทม. สร้างคน-การศึกษา-คนมีส่วนร่วมกับเมือง

Profit สร้างมหานครแห่งความมั่งคั่ง สร้างงาน แก้ปัญหาปากท้อง หาบเร่แผงลอย สนับสนุนคนยากจนให้ดี ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯอย่างยั่งยืน
นำเครื่องมือบล็อกเชนเข้ามาช่วย

ส่วนการประกาศ “ทุบหม้อข้าว” นั้น ต้องการชี้ให้เห็นว่าองค์กร กทม. มีความโปร่งใส อย่างการตั้งกรุงเทพธนาคม มีวัตถุประสงค์ลดขั้นตอนการบริหารของ กทม.ให้คล่องตัว

กลับถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา ไม่มีความโปร่งใส

เป็นกล่องซ่อนเงินของ กทม. ทุกคนมันต้องกล้าทุบหม้อข้าวของตัวเองที่ทำไม่ถูกต้อง ผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำกรุงเทพธนาคม ควรไปเชิญ ป.ป.ช. มาเป็นคนคอยตีมือคนที่จะทุจริต ทำแบบนี้ได้ กทม.ก็พัฒนาไปอีกไกล

ตรงนี้เป็นสิ่งที่บอกว่าต้องทุบหม้อข้าว

ขอประกาศทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ

แต่การวิ่งเข้าเส้นชัย ตอนนี้ต้องทำงานหนักมาก โหมลงพื้นที่อย่างหนัก เพราะเปิดตัวทีหลังคนอื่น ยิ่งดูจากผลสำรวจโพลตอนเปิดตัว พบว่ามีประมาณ 30% ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร

ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่เราไปแชร์ได้ง่ายที่สุด แต่อีก 70% เขาตกลงปลงใจกับคนอื่นไปแล้ว ถ้าจะให้เปลี่ยนใจมาเลือกเราถือว่ายาก

จังหวะนี้ขอแข่งกับเวลาที่งวดเข้ามาเรื่อยๆ

“ผมเชื่อว่าประชาชนเข้าใจที่เราเป็นพรรคการเมืองเปิดใหม่ ยังไม่มี ส.ส. แต่บุคลากรในพรรค นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีประสบการณ์ทางการเมือง 30 ปี เสนอต้นเสมอปลาย ลงพื้นที่ไม่เคยขาด

แม้มีการถามว่าลงผู้ว่าฯ หวังผลการเมืองใหญ่หรือเปล่า ก็ต้องตอบตรงๆ ว่ามันก็ครึ่งๆ ถ้าชาว กทม.ไว้วางใจก็เข้าไปบริหาร กทม. หากพลาดท่าก็ทำการเมืองใหญ่

ผู้ว่าฯ กทม. คนไหนอยากนำนโยบายไปใช้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เอากระบวนการแก้น้ำท่วมไปได้ทันที ขอให้ไปช่วยก็ยินดี ไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องให้ตำแหน่ง

ในฐานะพรรคไทยสร้างไทย ถ้าได้เป็นรัฐบาล กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย-กทม. ก็สนับสนุนให้ผู้ว่าฯ กทม. ได้ทำงานในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ที่จะมาจ่ายเงินทำโครงการขนาดใหญ่ มันไม่ต้อง ขอให้ดูข้อเท็จจริงก็พอแล้ว”

โค้งสุดท้ายเตรียมวางกลยุทธ์อย่างไร เพื่อเดินหน้าไปให้ถึงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เสาชิงช้า น.ต.ศิธา บอกว่า ขอโฟกัสนโยบายให้ครบเข้าถึงชาว กทม. ให้มากที่สุด

ฉะนั้นในช่วงเวลาที่เหลือไม่สามารถผิดพลาดอะไรได้อีกแล้ว

ขอทำดีที่สุด บรรทัดสุดท้ายของผมไม่ได้อยู่ที่แพ้หรือชนะ

แต่ขอมุ่งมั่นทำให้เป็นพรรคที่เป็นประโยชน์ต่อ กทม. และประเทศ.

ทีมการเมือง