“สกลธี” ดึงประสบการณ์รองผู้ว่าฯ กทม. ผุดพื้นที่มิกซ์ยูส ตามนโยบาย “สกลธีโมเดล” ดึงความสะดวกเข้าชุมชน รวมหลากหลายกิจกรรมให้คนทุกช่วงวัยใช้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
วันที่ 7 พ.ค. 2565 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในนามอิสระ กล่าวถึงนโยบายสกลธีโมเดล มุ่งสร้างความสุขเพื่อให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิม ว่า จากการลงพื้นที่ทั้งช่วงที่เป็นรองผู้ว่าฯ และช่วงหาเสียงขณะนี้ เห็นว่าหลายพื้นที่ของ กทม. ยังสามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาให้ตอบสนองความสะดวกสบายของคนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องการนำความสะดวกสบายในบริการต่างๆ ของรัฐเข้าไปถึงประชาชนแทนที่จะต้องออกไปหาเอง
ทั้งนี้ เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะก็เป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดนี้ ที่ผ่านมาได้รับการเรียกร้องจากประชาชนหลายกลุ่มเกี่ยวกับความต้องการพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านที่เข้าไปใช้ร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ทำงานในลักษณะโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (co-working space) ทำงานศิลปะ หรือกิจกรรมอื่นๆ โดยตอนสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ก็ทำเรื่องนี้มาตลอด และดำเนินการสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่ได้กลับไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงตั้งใจจะสานงานนี้ต่อ
นายสกลธี กล่าวต่อไป ส่วนตัวคิดว่าพื้นที่สาธารณะไม่ได้หมายความถึงพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว แต่ ควรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมอื่นด้วย คือในพื้นที่หนึ่งอาจไม่จำเป็นว่าต้องใช้งานเฉพาะกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่สามารถที่แบ่งโซนเพื่อใช้ร่วมกันได้ และเมื่อมีคนมาใช้พื้นที่ก็จะทำให้เกิดร้านค้าชุมชน เช่น ร้านกาแฟ หรือสตรีทฟู้ดเล็กๆ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ร่วมกัน ตามนโยบายของตนต้องการทำให้ครบทั้ง 50 เขต
...
“สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ ผมเคยทำที่เขตลาดพร้าว จัดพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 14 ไร่ ที่ตอนแรกมีคนบุกรุก มีการเจรจาขอให้ย้ายออก และเรานำพื้นที่มาทำเป็นทางวิ่ง นำต้นไม้ไปปลูก ทำให้ได้สวนของชุมชนกลับคืนมา ถ้าทำแบบนี้ทุกเขตก็จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ใกล้บ้าน เป็นการดึงความสะดวกสบายเข้ามาใกล้คน แทนที่จะต้องออกไปไกลๆ อย่างคนที่อยู่คลองสามวา ก็ไม่ต้องขับรถเพื่อเข้ามาในเมืองเพื่อมาวิ่งในสวนขนาดใหญ่ แต่สามารถใช้สวนใกล้บ้านทำกิจกรรมต่างๆ ได้เลย”
นายสกลธี กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่อยากทำคือ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพฯ เช่น ตลาดน้อย, นางเลิ้ง ที่เป็นชุมชนเก่าสวยงาม สามารถที่จะดึงความโดดเด่นของชุมชนดั้งเดิมขึ้นมาเป็นจุดขาย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว หรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน อาจจะเปิดโชว์งานศิลปะ จัดเป็นงานแฟชั่น หรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้และยังเป็นจุดท่องเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจได้ เพราะด้วยความจำกัดของเมืองใหญ่ อาจจะทำให้มีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายมีน้อย แต่ในนโยบายด้านการบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้สกลธีโมเดล ที่เน้นเรื่องการเชื่อมโยงทุกพื้นที่เข้าสู่การบริการของ กทม. พยายามที่จะลดเงื่อนไขตรงนั้นลง ถ้าสามารถบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำงาน หรือพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายของคนกรุงเทพฯ ได้ จะทำให้เมืองเป็นเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นจากการใช้พื้นที่มีประโยชน์ได้สูงสุด.