“อนุทิน” ปลื้ม WHO เลือกไทย เป็นประเทศต้นแบบคุมโควิด-19 เตรียมแชร์ประสบการณ์บนเวทีโลกปลาย พ.ค.นี้ เล็งยกเลิก Thailand Pass เริ่มที่คนไทยกลับประเทศ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่อยู่ที่ ศบค.

วันที่ 5 พ.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี พบว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด-19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยพบปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ
2. ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง
3. ได้รับความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม.
4. มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน
5. มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล

สำหรับประสบการณ์เหล่านี้ จะได้รับการถ่ายทอด ในที่ประชุม World Health Assembly (WHA) ในช่วงปลายเดือน พ.ค. ปีนี้

...

ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงการผ่อนคลายมาตรการ นายอนุทิน ตอบว่า การติดเชื้อในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มลดลง เกิดจากความร่วมมือของประชาชน ยอดป่วยหนัก เสียชีวิตก็ลดลง อัตราการครองเตียงผู้ป่วยอาการหนักลดมาเหลือร้อยละ 20 ขณะนี้มีความพร้อมทั้ง แพทย์ เตียง และยาเวชภัณฑ์ แม้ยังไม่ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็มีความพยายามเดินไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นอยู่ทุกวัน

ทั้งนี้ ภายหลังที่มีการผ่อนคลายเข้าประเทศมาร่วม 1 สัปดาห์ ยังพบการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศ รายงานวันนี้ผู้เดินทางติดเชื้อ 9 ราย ส่วนในประเทศติด 9,000 รายเศษ อัตราต่างกันมหาศาล ที่ผ่านมาเราติดตามสถานการณ์มาตลอด เพื่อพิจารณาหาทางเพื่อผ่อนคลายมาตรการ ตอนนี้ต้องเน้นเรื่องเศรษฐกิจ พยายามให้เปิดโรงเรียนให้ได้ พร้อมการจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึงที่สุด

นายอนุทิน ระบุต่อไปว่า การเข้าประเทศก็เหลือเพียงการตรวจ ATK โดยระยะต่อไปก็จะพิจารณาให้เริ่มมีการยกเลิกการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass จะเริ่มในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้ามาในประเทศก่อน เพราะเป็นผู้ที่เราสามารถดูแลได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาล ส่วนชาวต่างที่จะเข้ามาในประเทศไทยจะพิจารณาในระยะต่อไป

เมื่อถามถึงเรื่องการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นายอนุทิน กล่าวว่า อยู่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. การคงอยู่ของกฎหมายเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน แต่เมื่อมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นโดยสมบูรณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คงลดความสำคัญลง ขอให้ย้อนกลับไปดูที่มาของการใช้กฎหมาย เนื่องจากตอนแรกที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะแพทย์สั่งตรวจหาเชื้อ หรือปิดสถานที่เสี่ยงไม่ได้ ก็ต้องใช้อำนาจอื่นมาช่วย ต้องมีกฎหมายมารองรับสนับสนุนการทำงาน

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อขยับขึ้นนั้น ต้องเร่งให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ประชาชน ให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อย่างมาก แน่นอนว่าเมื่อมีการคลายล็อกการติดเชื้อต้องมีการขยับขึ้น ซึ่งการจะให้เป็นโรคประจำถิ่น การติดเชื้อ เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมียา มีหมอรักษา แต่ขออย่าให้ยอดป่วยหนักถึงล้มตายเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ คือ การฉีดวัคซีน ที่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ฉะนั้นคนที่รับเข็มที่ 2 ต้องไปรับเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ตามลำดับ ข้อมูลที่มีก็ยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีความเสี่ยงหากรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะลดการเสียชีวิตได้มากเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย ตามที่มีรายงานตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่าร้อยละ 90-95 ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน สำหรับเรื่องการสวมหน้ากาก ที่เริ่มมีการพูดถึงการถอดหน้ากันแล้ว ขออธิบายว่า หากสวมแล้วไม่ได้เป็นความเดือดร้อน สามารถป้องกันโรคได้ และโรคติดเชื้ออื่นก็ลดลงด้วย การสวมหน้ากากก็ถือว่าเป็นเรื่องดี”