กพศ. เห็นชอบประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค นายกรัฐมนตรี ย้ำเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตพร้อมเพรียงกันทุกภาค อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศให้เจริญเติบโตและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกันต้องเร่งหารายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้เพิ่มขึ้นและทำให้ทุกพื้นที่มีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ช่วยกันประสานงานขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้
...
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายแปลงไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ และให้มีการติดตามประเมินผลเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบรรลุเป้าหมายตามแผนที่กำหนดไว้ โดยย้ำเรื่องใดที่ติดขัดอุปสรรค ข้อกฎหมาย หรือกติกาในพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ และมอบหมายให้หาแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมต่างๆ ที่มีศักยภาพ และตามแนวเส้นทางรถไฟ มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประเทศ กระจายความเจริญและกระจายคนจากเมืองใหญ่ไปสู่พื้นที่นอกเมืองและภูมิภาคต่างๆ พร้อมกันนี้ ขอให้มีการพัฒนาเตรียมแรงงานของประเทศ บริหารจัดการแรงงานทั้งในประเทศและแรงงานต่างประเทศให้เพียงพอ ให้คนกลับไปทำงานในพื้นที่มากขึ้น เกิดการสร้างงาน อาชีพ และรายได้ในพื้นที่ให้กับแรงงานในประเทศอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด สำหรับการเห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยมีการกำหนดพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ดังนี้
(1) จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน
(2) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ
(3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC
(4) จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากหนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี จากเดิม ระยะเวลาสิ้นสุดภายในปี 2563 เป็น ให้สิ้นสุดภายในปี 2566, เห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) จำนวน 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตรเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และโครงการถนนสาย ทล.2-สถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย สนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และรองรับขนส่งสินค้าทางรถไฟ, เห็นชอบแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นการตลาด การประชาสัมพันธ์ และ Roadshow เพื่อสร้างโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกเผชิญกับความผันผวนและห่วงโซ่อุปทานเกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง.